35 เรื่องเล่าของรถไฟในโตเกียวที่ไม่มีในหนังสือ

30174
30 เรื่องเล่าของรถไฟในโตเกียว

สวัสดีค่ะ บทความเกี่ยวกับรถไฟในโตเกียวในวันนี้จะมีความพิเศษสักเล็กน้อย เป็นเรื่องที่เราอยากจะเล่าสู่กันฟัง ให้เพื่อนๆ ได้รับรู้เหตุการณ์ต่างๆ ในอีกหลายแง่มุมที่มองจากแอดมินที่เคยอยู่อาศัยในญี่ปุ่น ไม่ใช่เพียงแค่แง่มุมของการท่องเที่ยวนะคะ

แน่นอนว่าความสะดวกของรถไฟเป็นสิ่งที่ขึ้นชื่อของญี่ปุ่น แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรถไฟญี่ปุ่นที่เรารู้จักกัน วันนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไปรู้จักรถไฟในโตเกียวให้มากขึ้นค่ะ อีกทั้งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะสะท้อนถึงการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นด้วย ก่อนอื่นต้องขอแจ้งก่อนว่าสิ่งที่เขียนขึ้นในบทความนี้เป็นเหตุการณ์ที่แอดมินได้ประสบพบเจอด้วยตัวเอง ซึ่งอาจจะเป็นกรณีที่อาจจะเกิดหรือไม่เกิดในสภาวะทั่วไปก็ได้ ทั้งนี้เราขอนำเสนอในหลายๆ แง่มุม หากมีสิ่งใดผิดพลาดไป ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

35 เรื่องเล่าเกี่ยวกับรถไฟในโตเกียว

1. รถไฟจะมาสายเกือบทุกวัน ในข้อนี้อาจจะมีหลายท่านแย้ง เพราะรถไฟญี่ปุ่นมีทั้งตัวเลข การตรวจสอบเรื่องการตรงเวลาให้เราได้เห็นกันเสมอ แต่…เราไม่ได้หมายถึงการสายในทางตัวเลข หรือสถิติค่ะ

ขออนุญาตยกตัวอย่างนะคะ เช่น คุณขึ้นรถไฟ เวลา 8:00 น. และจะถึงที่หมายในเวลา 8:15 น. แต่ว่า ถ้ารถไฟสาย คุณจะถึงที่หมายในเวลา 8:25 – 8:30 น. แต่ในขณะเดียวกันตัวเลขบนป้ายจะรันเวลาบนชานชาลาตลอด และเวลารถไฟมาถึงก็จะตรงกับเวลาที่บอกบนป้ายในชานชาลานั่นเอง แต่ว่าคนที่อยู่บนรถไฟจะรู้ว่า ขบวนนี้สาย… โดยเฉพาะ ชั่วโมงเร่งด่วน วันจันทร์ วันฝนตก ถึงแม้คุณจะขึ้นรถไฟเวลาเดียวกันทุกวัน แต่จะถึงที่ทำงานไม่เท่ากันค่ะ

ป้ายบอกในสถานีรถไฟ
ป้ายบอกขบวนรถไฟในสถานี

2. เบาะที่นั่งบนรถไฟจะมีเครื่องทำความร้อนอยู่ใต้เบาะ ตอนหน้าหนาวมันดีมาก แต่บางทีก็ร้อนจนตูดแทบไหม้ =[]=! และบางทีอากาศในรถไฟก็ร้อนเกินไป ใส่เสื้อกันหนาวมาหนาๆ นี่มีเต่าเปียก

3. หากมีคนกดปุ่มฉุกเฉิน รถไฟจะหยุดทันทีเพื่อตรวจสอบความผิดปกติตลอดทั้งขบวน

4. เวลารถไฟจะออกจากชานชาลาจะมีเจ้าหน้าที่เช็คทั้งหัวและท้ายรวมถึงตรงกลางของชานชาลาด้วย

5. ด้านนอกของประตูรถไฟทุกขบวน จะมีช่องเล็กๆ อยู่ตรงด้านล่าง ความสูงประมาณเข่าของคนทั่วไปเพื่อเปิดประตูรถไฟจากด้านนอกในกรณีฉุกเฉิน

6. ระยะห่างของขอบชานชาลากับประตูรถไปห่างกันมากพอจะทำให้ขาคุณตกลงไปได้ทั้งขา ระวังกันด้วยนะคะ

Yamote Line
รถไฟสาย Yamanote Line

7. ห้ามกางร่มบนชานชาลาแม้ฝนจะตกก็ตาม และห้ามใช้ไม้เซลฟี่ด้วย

8. ในหนึ่งชานชาลาจะอาจจะมีรถไฟ 2-3 ขบวน เข้ามาในเวลาไล่เลี่ยกัน ฉะนั้นต้องดูสีประจำสายรวมถึงเวลาออกของรถไฟ และรอประกาศด้วย (ดูวิธีการขึ้นรถไฟได้ที่บทความ » โตเกียว! ขึ้นรถไฟยังไงไม่ให้ผิดฝั่ง ผิดสาย)

9. ไม่มีกฏการห้ามทานอาหารและเครื่องดื่มบนรถไฟ เคยเห็นคนญี่ปุ่นยกขวดน้ำขึ้นมาดื่มเหมือนกันค่ะ

10. ถ้าคุณเกิดหิวน้ำ หิวขนมขึ้นตอนรอรถไฟ หรือลงจากรถไฟ บนชานชาลาของบางสถานีก็มีน้ำก๊อกให้ดื่มฟรี รวมถึงมีตู้ขายน้ำขายขนมตั้งไว้บริการด้วยค่ะ

ชานชาลารถไฟสถานี Otemachi
ชานชาลารถไฟสถานี Otemachi

11. การเดินภายในเส้นเหลืองของชานชาลาเป็นเรื่องปกติ เพราะไม่มีที่จะเดินแล้ว และคนรอจะรอหลังเส้นเหลือง (ไม่มีรปภ.เป่านกหวีดให้สะดุ้งจนจะตกรางรถไฟ)

12. ต่อเนื่องจากข้อ 11. ดังนั้นเวลารถไฟจะเข้าชานชาลาจะบีบแตรทุกขบวน แบบว่ารถมาแล้ว เลิกเดินได้แล้ว อย่างไรก็แล้วแต่ ในชานชานลาที่ไม่มีที่กั้นระหว่างรถไฟ ควรงดเดินหน้าเส้นเหลืองตอนรถไฟมานะคะ อาจจะโดนลมจากรถไฟตีเอาได้ (รถไฟแต่ขบวนของที่นี่ยาวมากด้วย)

13. เพลงสัญญาณการมาถึงของรถไฟในแต่ละสถานีไม่เหมือนกัน เคยเจอเพลงคริสต์มาสด้วย (แต่จำไม่ได้ว่าสถานีไหน >///<)

ป้ายบอกทางออกในสถานี Ginza
ป้ายบอกทางออกในสถานี

14. เนื่องจากรถไฟแต่ละขบวนมีหลายตู้และทางออกในสถานีแต่ละแห่งก็ยังมีเยอะแยะมาก เราสามารถดูป้ายได้ว่าตู้หมายเลขอะไรอยู่ใกล้ทางออกไหนบ้างรวมถึงบันไดเลื่อนและลิฟต์ในแต่ละสถานี ช่วยประหยัดแรงและเวลาในการเดินออกจากสถานีได้อีก

15. การเปลี่ยนสายรถไฟในบางสถานี บางทีก็ต้องเดินกันเกือบครึ่งกิโล ถ้ามีสัมภาระมาด้วยเยอะๆ ก็แบกกันกล้ามโต แต่ถ้าไม่อยากแบกไปไกล เราสามารถเลือกขึ้นรถไฟสายที่เดินไม่ไกลได้ถ้าสายนั้นผ่านที่ที่เราจะไป แต่อาจใช้เวลานั่งรถไฟนานกว่านิดหน่อยหรือมีค่าโดยสารแพงกว่า (คือไม่ต้องเชื่อ Route อันแรกเสิร์ชมาก็ได้ ถ้าแอดวานซ์หน่อยก็ดูจากแผนที่เองเลย หุหุ)

16. เวลาขึ้นรถไฟ ต้องเปิดโทรศัพท์มือถือเป็น Manner Mode (ปิดเสียงเรียกเข้า) และไม่ควรคุยโทรศัพท์มือถือบนรถสาธารณะ บนรถไฟก็ไม่มีโฆษณาบนจอทีวีแบบรถไฟบ้านเรา ฉะนั้นเราคงคิดว่ารถไฟจะเงียบๆ แต่บางทีก็เจอคนญี่ปุ่น (โดยเฉพาะพวกวัยรุ่นที่มากันเป็นกลุ่ม) คุยกันเองบนรถไฟเสียงดังตลาดแตกมาก ==”

สถานีรถไฟ Komagome
ชานชาลารถไฟใต้ดิน

17. แม้จะเลยเที่ยงคืนก็ยังมีรถไฟวิ่ง รถไฟเที่ยวสุดท้ายจะแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเวลาประมาณห้าทุ่มครึ่งถึงเที่ยงคืนครึ่ง ถ้าตกรถไฟเที่ยวสุดท้ายก็ต้องเรียกแท็กซี่ หรือเดินกลับที่พัก เอิ๊ก~

18. ในรถไฟช่วงเช้าเราจะรักกันมากปานจะกลืนกิน ใกล้ชิดยิ่งกว่ากอดกันขยับไม่ได้ ส่วนในช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืนจะคับคั่งไปด้วยนักดื่มเต็มขบวนและกลิ่นก็ฟุ้งมาก ==”

19. ต่อจากข้อ 18. คุณอาจจะกลายเป็นเสาที่มีคนเมาพิงประหนึ่งว่าเป็นแฟน หรือนอนซบคุณอีกตะหาก

20. คุณจะเห็นคนเมาทุกรูปแบบบนรถไฟในช่วงเวลาพีค ซึ่งก็คือหลังเที่ยงคืน

21. ในคืนวันศุกร์นอกจากจะเห็นคนนอนตามสถานี คนเมาแล้ว…อ้วกคนเมาคุณก็จะได้เห็นมันเช่นกัน

22. ถ้าไม่อยากให้สาวญี่ปุ่นในอุดิมคติพังทลาย อย่ามองเธอหลับหรือเมาขณะอยู่บนรถไฟ T T

สถานีรถไฟ Tokyo
สถานีรถไฟ Tokyo

23. ถ้าเจอคุณแม่กับคุณลูกขึ้นรถไฟและมีที่นั่งเหลือแค่ 1 ที่ คุณแม่จะนั่งและให้คุณลูกยืนเกาะเสาใกล้ๆ คุณแม่ก็จะมองอยู่ห่างๆ แต่คนที่ลุกให้เด็กนั่งก็มี เห็นอยู่บ่อยๆ นะคะ (ปกติจะมีที่นั่ง Priority Seat สำหรับสำหรับเด็กและคนชราอยู่ค่ะ จึงไม่จำเป็นต้องลุกให้ก็ได้)

24. ในชั่วโมงเร่งด่วน จะเห็นผู้หญิงโดนเบียด โดนผลักท่ามกลางชายร่างใหญ่ อาจจะรู้สึกไม่ดีแต่ก็มีให้เห็นทุกวัน

25. การขึ้นรถไฟแบบคนญี่ปุ่นคือ เดินเข้ารถแล้วกลับหลังหัน ไม่งั้นคุณอาจจะไปจุ๊บหรือกอดกับใครซักคนด้านในก็ได้ เพราะเขาจะหันหน้าออกมาทางประตูกัน

JR Shinjuku Station
สถานีรถไฟ JR Shinjuku

26. สถานีรถไฟชินจูกุเป็นสถานีรถไฟศูนย์กลางของโตเกียวที่น่าจะยุ่งเหยิงที่สุดในโลก เป็นสถานีที่ใหญ่มากและมีรถไฟผ่านที่นี่นับสิบสายและมีทางออกมากมาย อาจจะเดินหลงเอาได้ง่ายๆ แต่สถานีรถไฟที่ลึกลับซับซ้อนกว่า เราขอยกให้สถานีโตเกียว อย่างกับเขาวงกตเลยค่ะ

27. เวลาขึ้นบันไดเลื่อนในชานชาลาของโตเกียวจะยืนชิดซ้าย ส่วนฝั่งของโอซาก้าจะยืนชิดขวา และเว้นอีกข้างให้คนที่รีบเดินขึ้นไปก่อน

28. ต่อเนื่องจากข้อ 27. ปัจจุบันมีการรณรงค์ไม่เดินบนบันไดเลื่อน และให้ยืนคู่กันเป็น 2 แถวโดยไม่ต้องเว้นที่ เนื่องจากอาจเกิดอุบัติเหตุได้ (ถ้ารีบเดินก็ให้ไปใช้บันไดธรรมดาแทน) แต่ว่าคนก็ยังติดยืนชิดด้านซ้ายและเว้นที่ด้านขวาอยู่ จึงต้องสังเกตด้วยตัวเองเวลาใช้งานจริงว่าเขายืนกันอย่างไร

29. เวลาเดินตามเดินในสถานีควรสังเกตลูกศรหรือป้ายด้วยว่าเขาให้เดินชิดทางไหน บางทีก็ให้เดินชินซ้าย บางทีก็ให้เดินชิดขวา

30. คนขับรถไฟสาย JR Yamanote โดยเฉพาะช่วงบ่ายๆ อาจจะเจอคุณคนขับรถเมลสาย 8 แฮปปี้ยามาโนเทะแลนด์ด้วย ฮา…กระชาก กระตุก หัวทิ่ม มีทุกอย่าง (ปัจจุบันไม่แน่ใจว่ายังเป็นอยู่มั้ย เอิ๊ก~)

JR Harajuku Station
สถานีรถไฟ JR Harajuku

31. รถไฟบนดินกับรถไฟใต้ดินจริงๆ สถานีอยู่ติดกันแต่ใช้ชื่อสถานีคนละชื่อ และชื่อของรถไฟใต้ดินจะยากกว่าบนดินเสมอ เช่น สถานีที่ฮาราจูกุ บนดินเรียกว่า Harajuku Station (สาย JR) ส่วนใต้ดินเรียก Meiji-jingumae Station (สาย Tokyo Metro)

32. Tokyo Metro มี Wifi ฟรีให้ใช้ แรงดีด้วย ในขณะเดียวกันของ JR East ก็มีแต่ว่า…เชื่อมต่อได้…แต่เล่นไม่ได้ ==”

33. ใครใช้บัตร Suica ถ้าเติมเงินนอกที่ตอกตั๋วจะเริ่มต้นที่ 500 เยน แต่ถ้าเติมภายในที่ตอกตั๋วจะเริ่มต้นที่ 1,000 เยน

34. นั่งรถไฟระยะสั้น สาย JR จะถูกกว่า (JR เริ่มต้นที่ 140 เยน, รถไฟใต้ดิน เริ่มต้นที่ 170 เยน) แต่ถ้านั่งระยะยาว รถไฟใต้ดินจะถูกกว่า

35. ตั๋วรายวันสำหรับรถไฟในโตเกียว (ที่กดซื้อได้เองที่ตู้) จะเริ่มต้นที่ 600 เยน สำหรับรถไฟใต้ดินสาย Tokyo Metro (ถ้าใช้ได้ทั้ง 2 สาย Tokyo Metro และ Toei จะอยู่ที่ 800 เยน) และแพงสุดที่ 1,590 เยน ซึ่งก็เป็นแบบรวมที่ใช้กับสาย JR ได้ด้วย ส่วนตั๋วแบบรายเดือนเดือนอย่างต่ำก็ประมาณ 5,500 เยน

เรื่องเล่าเกี่ยวกับรถไฟในโตเกียวก็คงมีเท่านี้ ถ้าเพื่อนๆ มีประสบการณ์อะไรแปลกๆ อะไรก็ลองมาเล่าสู่กันฟังได้นะคะ แล้วเจอกันใหม่ สวัสดีค่าา

เขียนเมื่อ Sep 29, 2015
อัพเดทล่าสุด May 15, 2019


บทความแนะนำ

· สนามบินนาริตะ (Narita Airport) และวิธีเดินทางเข้าเมืองโตเกียว
· สนามบินฮาเนดะ (Haneda Airport) และวิธีเดินทางเข้าเมืองโตเกียว

ค้นหาและเทียบราคาที่พักในโตเกียว

รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com