วิธีการทำบัตร Suica Card (IC Card) ที่ตู้ขายตั๋วอัตโนมัติ ง้าย ง่าย ใน 8 ขั้นตอน

163732
วิธีการซื้อบัตร Suica

ก่อนหน้านี้เราได้แนะนำวิธีการซื้อตั๋วรถไฟที่เครื่องขายตั๋วด้วยตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว และสำหรับคนที่ไม่อยากเสียเวลาซื้อตั๋วรถไฟบ่อยๆ เราขอแนะนำให้ทำบัตร Suica Card (บัตรซุยกะ) สำหรับใช้เติมเงิน แล้วใช้แตะที่เครื่องอ่านเดินเข้าช่องประตูอัตโนมัติแบบชิลๆ เลยค่า ยิ่งใครคิดว่าจะกลับไปเที่ยวญี่ปุ่นอีก ก็สามารถทำบัตรเก็บไว้ใช้ครั้งต่อๆ ไปได้เลย

เกี่ยวกับบัตร Suica Card

บัตร Suica Card เป็นบัตรเติมเงิน (IC Card) ของบริษัทรถไฟ JR EAST (ให้บริการแถบ Tokyo และรอบๆ) ซึ่งสามารถใช้แตะที่อ่านบัตร (ที่มีคำว่า IC) ตรงประตูอัตโนมัติแล้วเดินเข้าสถานีรถไฟแทนการใช้ตั๋วรถไฟ (ซึ่งคล้ายๆ กับบัตร Rabbit ของ BTS ที่ไทยค่ะ) สะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องไปงมหาราคาจากสถานีปลายทางแล้วไปกดซื้อตั๋วรถไฟที่ตู้ขายตั๋วให้วุ่นวายค่ะ

เราสามารถใช้บัตร Suica Card เดินทางได้ในหลายโซนเลยนะคะ นอกจาก Tokyo แล้ว ก็ยังมี Sendai, Niigata, Hokkaido, Tokai, West Japan และ Kyushu

หมายเหตุ:

  • ไม่สามารถใช้นั่งรถไฟต่อเนื่องข้ามโซนได้ จะต้องออกจากสถานีก่อนแล้วแตะบัตรเข้าไปใหม่
  • ไม่สามารถใช้นั่งชินคันเซ็นได้
  • หากใช้บัตร Suica ชำระค่าโดยสารสำหรับรถไฟขบวน Limited Express, Express หรือ Green Cars จะต้องซื้อตั๋วเพิ่มต่างหาก (ใช้ Suica ชำระได้เฉพาะ Basic Fare เท่านั้น)
  • หากมียอดคงเหลือไม่เพียงพอตอนแตะบัตรออกจากสถานี จะต้องไปชำระเงินเพิ่มหรือเติมเงินที่เครื่องปรับค่าโดยสารก่อน

เราสามารถใช้บัตร Suica Card ขึ้นรถไฟได้ทั้งบนดินของ JR รถไฟใต้ดินทั้ง Tokyo Metro และ Toei Subway รวมถึงรถไฟ Tokyo Monorail ที่วิ่งระหว่างสนามบิน Haneda Airport และรถบัส หรือในพื้นที่อื่นๆ ก็สามารถใช้ได้เช่นกันค่ะ อีกทั้งยังสามารถใช้จ่ายแทนเงินสดในร้านค้าต่างๆ อาทิ ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายเสื้อผ้า เครื่องเขียน ร้านไอศกรีม โรงหนัง รวมทั้งตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ตู้ล็อคเกอร์ รวมถึงจ่ายค่าแท็กซี่ และอื่นๆ อีกสารพัด โดยให้สังเกตตอนจ่ายเงิน ถ้ามีโลโก้ด้านล่างนี้อยู่ก็สามารถใช้บัตร Suica Card จ่ายได้เลยค่ะ

การทำบัตร Suica Card ก็ง่ายแสนง่าย สามารถทำได้ด้วยตัวเองเลยค่ะ ^^ ก่อนอื่นก็ให้ไปที่ตู้ขายตั๋วที่สามารถออกบัตร Suica ได้ (จะมีคำว่า Charge เขียนไว้) ซึ่งอยู่ภายในสถานีรถไฟค่ะ (แถวๆ ตู้ขายตั๋วรถไฟ)

หน้าตาเครื่องขายตั๋วเป็นประมาณนี้นะคะ เนื่องจากว่าเครื่องจะมีหลายช่องหลายรู จึงขอแนะนำช่องต่างๆ ที่ต้องใช้ในการซื้อตั๋วกันคร่าวๆ เรียงจาก ขวา → ซ้าย ดังนี้

  • สีแดง : ช่องใส่เหรียญ
  • สีน้ำเงิน : ช่องใส่ธนบัตร
  • สีเขียว : ช่องรับบัตร Suica/ตั๋วรถไฟ
  • สีชมพู : ปุ่ม Cancel ทุกขั้นตอน

ขั้นตอนการทำบัตร Suica และ MySuica

เนื่องจากว่าบัตรจะมีให้เลือก 2 แบบ คือ MySuica (ออกบัตรใหม่ได้ในกรณีที่หาย เพราะต้องใส่ชื่อและข้อมูลส่วนตัวของเรา) และ Suica (แบบธรรมดา ไม่ต้องกรอกข้อมูลอะไร ถ้าหายก็ต้องซื้อใหม่อย่างเดียว) ซึ่งเราจะขอแนะนำการซื้อบัตรแบบ MySuica นะคะซึ่งจะมีขั้นตอนเยอะกว่าซื้อแบบธรรมดา อิ อิ

※เนื่องจากวัตถุดิบในการผลิตบัตรขาดแคลน JR EAST จึงได้งดจำหน่ายบัตร Suica (สีเขียว) ชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2023 และได้งดจำหน่ายบัตร MySuica (สีเขียว) แบบระบุชื่อ ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2023 แต่ยังสามารถออกบัตรใหม่ในกรณีที่ทำหายได้ (คาดว่าจะกลับมาจำหน่ายได้อีกครั้งในฤดูใบไม้ผลิปี 2024)
※คนที่ต้องการจะซื้อบัตร Suica ใหม่ในญี่ปุ่น สามารถซื้อได้เฉพาะ Welcome Suica (สีแดง) ที่สามารถใช้งานได้ 28 วันเท่านั้น ซึ่งเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวระยะสั้น

1. เปลี่ยนภาษาที่ตู้ขายตั๋ว

ให้เปลี่ยนภาษาญี่ปุ่นให้เป็นภาษาอังกฤษ ที่ปุ่มตรงมุมขวาด้านบน

2. เลือกรูปแบบของบัตรที่ต้องการซื้อ

เลือกเมนูด้านล่างมุมซ้ายสีฟ้าๆ “Purchase New Suica”

3. เลือกรูปแบบของบัตร Suica

พอจิ้มเข้ามา เมนูด้านในจะมีให้เลือก 3 เมนู

3.1 MySuica (New purechase): ซื้อบัตรใหม่ (สามารถออกบัตรใหม่ได้ในกรณีที่หาย)

3.2 Suica (New purechase): ซื้อบัตรใหม่ (บัตรแบบธรรมดา)

3.3 Charge: เปลี่ยนประเภทบัตร Suica จากเด็กเป็นผู้ใหญ่, ดูประวัติการใช้บัตร, ดูยอดเงิน (ถ้าเป็นการเติมเงินในบัตร แค่สอดบัตร (หรือวางบัตร) กับตู้ ก็จะขึ้นหน้าจอให้เติมเงินเลยค่ะ ไม่ต้องมากดหาถึงตรงนี้ก็ได้)

การทำบัตรใหม่จะสามารถกดได้ทั้งเมนู MySuica และ Suica ส่วนตัวเราเลือกเมนูแรกค่ะ จิ้มโลด~ ส่วนใครที่เลือกเป็นแบบ Suica ธรรมดาก็ให้ข้ามไปที่ข้อ 7 ได้เลย

4. อ่านเงื่อนไข

จะมีเงื่อนไขเบื้องต้นขึ้นมาค่ะ ให้กด “Confirm” โลดดดด

5. กรอกข้อมูลส่วนตัว

ให้กรอกข้อมูลส่วนตัว ช่องด้านหน้าให้เขียนนามสกุลก่อนนะคะ ใส่แค่ 4 ตัวอักษรก็พอไม่ต้องเขียนหมดก็ได้

5.1 ใส่นามสกุลเสร็จแล้วให้กดปุ่มในช่องกรอบไฮไลท์สีเหลือง เพื่อเขียนชื่อในช่องไฮไลท์สีแดงจ้าา ชื่อก็เอาชื่อเต็มก็ได้ค่ะจะได้รู้ว่าเป็นชื่อเรา เขียนเรียบร้อยแล้วก็กด “OK”

5.2 ขั้นตอนนี้ง่ายๆ ก็เลือกเพศชาย หรือ หญิงจ้า

5.3 ใส่วันเดือนปีเกิดค่ะ YYYY-MM-DD นับตามปีเกิด ค.ศ แล้วกด “OK”

5.4 ใส่เบอร์โทรศัพท์ค่ะ เราเป็นนักท่องเที่ยวให้ใส่เป็นเบอร์โรงแรมก็ได้นะคะ จากนั้นก็กด “OK”

6. ตรวจสอบข้อมูล

ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องค่ะ เขียนตรงไหนผิดก็กลับไปแก้ได้ โดยกดตรงปุ่มเมนูด้านซ้ายที่เขียนว่า “Name” ,”Sex”, “Birth Date”, “Telephone” ถ้าไม่มีจุดผิดพลาดก็กด “OK” โลดๆ

7. เติมเงินในบัตร

จากนั้นเครื่องจะถามว่าเราจะเติมเงินเท่าไหร่ มีให้เลือกตั้งแต่ 1,000 เยน, 2,000 เยน, 3,000 เยน, 4,000 เยน, 5,000 เยน, 10,000 เยน โดยจะมีการหักค่ามัดจำบัตร 500 เยน เราเลือกเติม 1,000 เยน จิ้มค่ะจิ้ม อิ อิ

หมายเหตุ :

  • สามารถเติมเงินในบัตรได้สูงสุดไม่เกิน 20,000 เยน

8. จ่ายเงินและรอรับบัตร

ขั้นตอนสุดท้ายคือการใส่เงินตามจำนวนที่เรียกเก็บค่ะ ขั้นตอนเกือบสุดท้ายแล้วค่ะ คือจำนวนรวม 1,000 เยน ค่ามัดจำบัตร 500 เยน และเงินในบัตรที่สามารถใช้ได้ 500 เยน

เพียงเท่านี้ รอไม่กี่วินาทีบัตรเพนกวินสีเขียวเงินก็จะออกมาให้เราได้ยลโฉมกันจ้าาา หลังจากนั้นก็เดินตัวปลิวขึ้นรถไฟได้เลย ^^

ตัวอย่างบัตร Suica (แบบธรรมดา)

ตัวอย่างบัตร Suica (แบบรายเดือน)
ถ้าบัตรธรรมดาจะไม่มีตัวหนังสือสีน้ำเงินนะคะ

การจองบัตร Suica ทางออนไลน์

สำหรับคนที่ไม่อยากไม่อยากไปกดซื้อบัตร Suica เองที่ตู้ ตอนนี้สามารถจองบัตรทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Klook.com แล้วไปรับบัตรที่เคาน์เตอร์ Klook ในสนามบินสุวรรณภูมิหรือที่เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งในบัตรจะเติมเงินมาให้แล้ว 1,500 เยน (+ค่ามัดจำ 500 เยน) สามารถนำไปใช้ได้ทันทีค่ะ

※ตอนนี้ Klook มีเฉพาะ Welcome Suica เท่านั้น โดยจะเติมเงินมาให้ 2,000 เยน (สามารถใช้เงินได้เต็มมูลค่าบัตร)

Klook.com

การเติมเงินและคืนบัตร Suica

การเติมเงินก็สามารถเติมได้ที่ตู้ซื้อตั๋วรถไฟ สอดบัตรเข้าตู้ เลือกจำนวนเงิน จ่ายเงิน รับบัตร ก็เรียบร้อย หรือถ้าจะไม่ใช้บัตรแล้ว ก็สามารถคืนบัตรได้ที่ศูนย์ JR EAST Travel Service Center ในสถานีรถไฟต่างๆ และที่สนามบิน ซึ่งเราจะได้เงินมัดจำคืน (500 เยน) เมื่อเราคืนบัตรด้วยค่ะ

หมายเหตุ :

  • หากซื้อบัตรกับ Tokyo Monorail หรือที่อื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ JR EAST จะต้องไปคืนกับสถานที่ที่ออกบัตรนั้นๆ ไม่สามารถคืนที่ศูนย์ JR EAST Travel Service Center ได้)
  • ในตอนขอคืนบัตร หากในบัตรมีเงินเหลืออยู่เกิน 220 เยน จะถูกหักค่าธรรมเนียม 220 เยนจากเงินที่เหลืออยู่ ยกตัวอย่างเช่น
    • หากเหลือเงิน 1,000 เยน จะได้เงินคืน 780 + ค่ามัดจำ 500 เยน = 1,280 เยน
    • หากเหลือเงินน้อยกว่า 220 เยน ก็จะได้คืนแค่ค่ามัดจำ 500 เยน
    • หากเหลือเงิน 0 เยน ก็จะได้ค่ามัดจำ 500 เยนเต็มจำนวน
  • แนะนำว่าถ้าจะคืนบัตรให้ใช้เงินในบัตรให้หมดก่อน เพื่อไม่ให้โดนหักค่าธรรมเนียม
  • บัตรมีอายุ 10 ปี (หลังจากใช้งานล่าสุด) สามารถเก็บไว้ใช้หากมาเที่ยวญี่ปุ่นรอบต่อๆ ไปได้อีก

เกี่ยวกับบัตร Welcome Suica

Welcome Suica หรือเรียกกันว่า Suica สีแดง เป็นบัตรเติมเงิน (IC Card) เช่นเดียวกับบัตร Suica สีเขียวด้านบนค่ะ โดยเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2019 ซึ่งวีธีการใช้งานและการเติมเงินเหมือนกันทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้โดยสารรถสาธารณะ ซื้อของในร้านค้าได้ทั่วญี่ปุ่น แต่ที่แตกต่างกันหลักๆ ก็คือ

  • ไม่มีค่ามัดจำบัตร (500 เยน) สามารถใช้เงินได้เต็มมูลค่าบัตร มีให้เลือกตั้งแต่ 1,000 – 10,000 เยน
  • ขอคืนเงินคงเหลือในบัตรไม่ได้ และไม่สามารถออกใหม่ได้ถ้าทำหาย
  • อายุการใช้งานเพียง 28 วัน (นับจากวันที่ซื้อ)
  • มีเครื่องจำหน่าย Welcome Suica โดยเฉพาะที่สนานีในสนามบิน Narita Airport และ Haneda Airport

ด้วยเหตุนี้บัตร Welcome Suica จึงเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวระยะสั้นค่ะ ใช้เสร็จแล้วก็เก็บบัตรไว้เป็นที่ระลึกได้เลย ใครไม่คิดว่าว่าจะมาเที่ยวญี่ปุ่นบ่อยจะซื้อบัตรนี้ก็ได้ หรือใครที่คิดว่าจะกลับมาเที่ยวอีกและไม่อยากเสียเวลาทำบัตรใหม่ การทำบัตรแบบสีเขียวธรรมดาก็จะสะดวกกว่าค่ะ

※เนื่องจากวัตถุดิบในการผลิตบัตรขาดแคลน จึงได้งดจำหน่ายบัตร Suica (สีเขียว) ชั่วคราว คนที่ต้องการจะซื้อบัตร Suica ใหม่ในญี่ปุ่น สามารถซื้อได้เฉพาะ Welcome Suica (สีแดง) เท่านั้น

สถานที่จำหน่ายบัตร Welcome Suica

Welcome Suica Ticket Machine

สามารถซื้อได้ที่ตู้จำหน่ายอัตโนมัติสำหรับ Welcome Suica ภายในสถานี

  • Narita Airport Terminal 1
  • Narita Airport Terminal 2-3
  • Haneda Airport Terminal 2
  • Haneda Airport Terminal 3

JR EAST Travel Service Center

สามารถซื้อได้ที่เคาน์เตอร์ของ JR EAST Travel Service Center ภายในสถานี

  • Tokyo
  • Hamamatsucho (※หยุดให้บริการชั่วคราว)
  • Haneda Airport Terminal 3
  • Shinagawa
  • Shibuya
  • Shinjuku
  • Ikebukuro
  • Ueno
  • Kashiwa
  • Yokohama
  • Kawasaki
  • Tachikawa
  • Omiya
  • Narita Airport Terminal 1
  • Narita Airport Terminal 2-3
  • Funabashi
  • Sendai
  • Fukushima
  • Niigata

JAPAN RAIL CAFÉ

สามารถซื้อได้ที่เคาน์เตอร์ใน JAPAN RAIL CAFÉ

  • JAPAN RAIL CAFÉ (Tokyo)

หมายเหตุ:

  • มีให้เลือกตั้งแต่ 1,000 เยน, 2,000 เยน, 3,000 เยน, 4,000 เยน, 5,000 เยน, 10,000 เยน
    ※ตั้งแต่16 พฤษภาคม 2022 หากซื้อที่เคาน์เตอร์ของ JR EAST Travel service Center และ JAPAN RAIL CAFE (TOKYO) จะมีจำหน่าย 2 ประเภท ได้แก่ แบบราคา 1,000 เยน และ 2,000 เยน เท่านั้น
  • มี Welcome Suica สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 12 ปีจำหน่ายเช่นกัน เวลาใช้โดยสารก็หักเงินตามเรทราคาของเด็ก

สรุป

เพื่อนๆ คนไหนที่จะมาเที่ยวญี่ปุ่น ลองทำบัตรเติมเงิน (IC Card) อย่าง Suica ของ JR EAST นี้ไว้ใช้กันนะคะ ถ้าเป็นของรถไฟใต้ดิน Tokyo Metro ก็เป็นบัตร PASMO นอกจากนี้ ถ้าในโซนอื่นอย่างคันไซ ก็จะเป็นบัตร ICOCA หรือ โซนฮอกไกโดก็จะเป็นบัตร Kitaca เป็นต้น

การใช้งานบัตรเติมเงินต่างๆ ที่ญี่ปุ่นนั้นเรียกได้ว่าไม่ต่างกันเลยค่ะ (ที่ไม่เหมือนกันแบบชัดๆ ก็คือ สถานที่ซื้อและคืนบัตร รวมถึงลายบนบัตร ฮา!) ใช้บัตรเติมเงินไม่ต้องเสียเวลาไปต่อแถวซื้อตั๋ว เดินตัวปลิวเข้าสถานีไปขึ้นรถไฟได้เลย สะดวกมากๆ ค่าาา

เขียนเมื่อ Sep 21, 2015
อัพเดทล่าสุด Sep 14, 2020

รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com