5 ข้อควรรู้ก่อนเรียนต่อญี่ปุ่น & การเตรียมตัวไปเรียนภาษาที่ญี่ปุ่น

8110
เรียนต่อญี่ปุ่น

สวัสดีค่า วันนี้แอดมินมีเกร็ดความรู้ดีๆ มาฝากสำหรับคนที่สนใจเรียนภาษาญี่ปุ่นกันอีกแล้วค่ะ เป็นการบอกเล่าการเตรียมตัวสำหรับการเรียนต่อญี่ปุ่นและการไปเรียนภาษาที่ญี่ปุ่น โดยบทความนี้จะเล่าจากประสบการณ์จริงของตัวเองโดยผ่านการศึกษาข้อมูลมาพอสมควร คิดว่าน่าจะเป็นแนวทางสำหรับคนที่ต้องการไปศึกษาต่อ ณ ประเทศญี่ปุ่นได้นะคะ โดยจะสรุปแยกเป็น 5 หัวข้อหลักๆ ตามลำดับดังนี้ค่ะ

คำแนะนำสำหรับการเตรียมตัวเรียนต่อญี่ปุ่น

เรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเอง & เรียนที่โรงเรียน

1. ตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่ต้องการเรียนต่อ

ก่อนอื่นเลยต้องตรวจสอบตัวเองก่อนว่ามีคุณสมบัติในการเรียนต่อญี่ปุ่นครบถ้วนหรือไม่ หากเราไปดูคอร์สต่างๆ ของโรงเรียนแล้วเกิดไฟแรงอยากไปเรียน แต่ว่าคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนด ก็ต้องพับโครงการไปอย่างผิดหวัง ดังนั้นทุกคนควรสำรวจตนเองก่อนดังนี้ค่ะ ^^

1.1 มีเอกสารยืนยันตัวตนและสถานภาพ

เอกสารส่วนนี้จะแสดงว่าเราเป็นคนไทย และจบการศึกษาระดับที่กำหนดแล้ว (ทางสถานบันหรือโรงเรียนจะรับคนที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายขึ้นไป) ซึ่งประกอบด้วย

  1. หนังสือเดินทาง (Passport)
  2. ทะเบียนบ้าน
  3. เอกสารจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย/มหาวิทยาลัย

1.2 มีผู้ค้ำประกัน

ในส่วนนี้จะเป็นการรับประกันว่าผู้ค้ำประกันมีความสามารถในการสนับสนุนเราให้เรียนได้ตลอดปีการศึกษา (อาจเป็นเรื่องน่าลำบากใจของหลายคน) หากเป็นเด็กหรือผู้ที่อยู่ในปกครองของบิดาและมารดา สามารถใช้ผู้ปกครองเป็นผู้ค้ำประกันได้ แต่หากมีผู้สนับสนุนการเงินเป็นผู้อื่นก็ต้องใช้หนังสือแสดงความสัมพันธ์ด้วยค่ะ ในส่วนเอกสารยิบย่อยนั้นต้องตรวจสอบเป็นรายบุคคล หากคิดแบบไม่ลงรายละเอียด คนที่จะไปเรียนที่ญี่ปุ่นระยะยาว 1 ปี ควรมี Statement หรือมีเงินในบัญชีเงินฝากประมาณ 800,000 บาทค่ะ (ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการเรียนต่อและค่าดำเนินการเรื่องเอกสารนะคะ)

หมายเหตุ: สำหรับผู้ค้ำประกันที่ทำอาชีพซึ่งไม่ขึ้นทะเบียนธุรกิจ ต้องเขียนจดหมายอธิบายที่มาของรายได้อย่างละเอียดเป็นภาษาอังกฤษแล้วให้ผู้ค้ำประกันเซ็นชื่อกำกับด้วยค่ะ

หากเรายังมีคุณสมบัติเบื้องต้นไม่ครบ เช่น บางคนอยากไปเรียนที่ญี่ปุ่นตั้งแต่ยังไม่จบมัธยมหรืออยากดรอปเรียนไป ก็ต้องเรียนที่ไทยให้จบก่อน หรือคนที่ผู้ค้ำประกันไม่พร้อมด้านการเงิน ก็จะได้เตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้รายการเคลื่อนไหวในบัญชีเงินฝากเป็นไปอย่างปกติที่สุด ไม่ใช่รู้ทีหลังก็เอาเงินมาโปะๆ กัน แบบนี้มีสิทธิ์ขอวีซ่าไม่ผ่านได้นะคะ

ทริปท่องเที่ยว

2. หาโรงเรียนที่อยากเรียนและเหมาะกับตนเอง

หากดูแล้วเราว่ามีคุณสมบัติเบื้องต้นเพียงพอ ต่อมาคือต้องหาโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยที่อยากเรียนค่ะ หากกำหนดโรงเรียนได้ จะทำให้เราคำนวณงบประมาณทั้งหมดที่เราต้องใช้จ่ายได้นั่นเอง ซึ่งระบบการเรียนภาษาที่ญี่ปุ่นมีหลายแบบค่ะ แต่การที่จะสมัครจากต่างประเทศแอดมินขอแบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ นะคะ

  1. โรงเรียนสอนภาษา
  2. สถานบันภาษาในมหาวิทยาลัย (เรียกว่า เบคกะ)
  3. นักเรียนแลกเปลี่ยน หรือการเรียนโดยมีความร่วมมือของมหาวิทยาลัยระหว่างประเทศ
  4. การเรียนต่อด้วยทุนการศึกษาของรัฐบาลหรือเอกชน ที่ให้ทุนความแตกต่างระหว่างโรงเรียนสอนภาษา และสถาบันภาษาในมหาวิทยาลัย

หมายเหตุ:

  • การเรียนแบบประเภทที่ 3 และ 4 มักจำกัดอยู่ในวงของนักศึกษาที่เรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นวิชาเอก หรือคนที่เก่งขั้นเทพ (สอบทุนได้)
  • สำหรับบุคคลทั่วไปที่อยากเรียนต่อโดยที่ไม่ได้เริ่มต้นภาษาญี่ปุ่นอย่างจริงจังมาก่อน ควรหาที่เรียนในประเภทที่ 1 และ 2 เป็นหลักค่ะ
ภูเขาไฟฟูจิ

3. กำหนดงบประมาณและเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนไปเรียนจริง

เมื่อเราตัดสินใจจะเรียนต่อที่ญี่ปุ่นแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถไปเรียนได้ทันทีทันใด เนื่องจากควรเตรียมตัวก่อนล่วงหน้าประมาณ 1- 2 ปีค่ะ ทำไมต้องเตรียมตัวนานขนาดนั้นล่ะ? ที่จริงแล้วการเตรียมตัวมากน้อยขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละคนค่ะ บางคนเรื่องงบประมาณพร้อมมาก แต่ยังเรียนมัธยมปลายจบไม่จบ หรือว่าเรียนจบแล้วอยากไปเรียนต่อญี่ปุ่นเลย แต่ไม่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นมากก่อน ก็ต้องไปลงเรียนระดับพื้นฐานก่อนค่ะ ซึ่งแอดมินขอจัดเรียงสิ่งที่เราต้องเตรียมภายใน 1 – 2 ปีนี้นะคะ

3.1 เตรียม Statement ผู้ค้ำประกัน

สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับความพร้อมของผู้ค้ำประกันด้านการเงินค่ะ จะเป็นช่วงเวลาที่เราสามารถเตรียมเงินได้ไม่มากก็น้อย หากขาดไปเพียงเล็กน้อยก็ค่อยๆ เติมเงินให้บัญชีมีการเคลื่อนไหวโดยไม่ดูผิดปกติ เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการถูกปฏิเสธวีซ่านั่นเองค่ะ

3.2 เตรียมค่าเทอมและค่าใช้จ่ายส่วนตัว

จากข้อ 2 ใหญ่ เมื่อเราเลือกโรงเรียนได้แล้ว เราจะสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ได้ สำหรับคนที่อยากเรียนด้วยเงินของตัวเอง ก็จะเป็นช่วงเวลาที่ดีในการสะสมงบประมาณให้ได้มากที่สุดค่ะ ส่วนตัวแอดมินตั้งเงื่อนไขกับคุณแม่เอาไว้คือ หากเก็บเงินค่าเทอมด้วยตัวเองได้ คุณแม่ถึงจะอนุญาตให้ไปเรียนที่ญี่ปุ่นค่ะ สู้กับแม่ทีไรเล่นเอาสะบักสะบอมทุกทีเลยค่ะ (เรียกว่าเลี้ยงด้วยลำแข็งอย่างแท้จริง ฮ่าๆ) ซึ่งเราขอแนะนำงบประมาณและค่าใช้จ่ายคร่าวๆ อ้างอิงจากการเรียนในโตเกียวเพื่อเป็นแนวทางดังนี้

  • ค่าเทอม: รวม 1 ปี ประมาณ 750,000 – 800,000 เยน (รวมส่วนลดและโปรโมชั่นฟรีค่าสมัครแล้ว)
  • ค่าหอพัก: ประมาณ 55,000 เยน/เดือน (ห้องละ 4 คน) *ต้องจ่ายล่วงหน้า 3 เดือน
    • ราคาห้องเดี่ยวในโตเกียว ประมาณ 100,000 เยน/เดือน (ห้องเล็กมาก)
    • ราคาห้องสำหรับสถานบันที่มีหอพัก ประมาณ 30,000 – 40,000 เยน/เดือน (ห้องละ 2 คน)
  • ค่าครองชีพ: 1,800 เยน/วัน (600 เยน/มื้อ)
  • ค่าเดินทาง: ค่าบัตรรถไฟรายเดือนถูกๆ ประมาณ 5,000 – 6,000 เยน/เดือน
  • ค่าโทรศัพท์ & ประกันสุขภาพ: 12,000 เยน/เดือน (มีซิมราคาถูก แต่ต้องผูกกับบัตรเครดิต)

หมายเหตุ:

  • ควรเตรียมงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวันในช่วงแรกประมาณ 4 เดือน เพราะเรายังไม่สามารถทำงานพิเศษได้ใน 3 เดือนแรก และเงินเดือนจะออกช่วงกลางเดือนถัดไป
  • ผู้ที่ถือวีซ่านักเรียนจะสามารถทำงานพิเศษ (อารุไบโตะ) ได้ไม่เกิน 28 ชั่วโมง/สัปดาห์ โดยจะได้รายได้ประมาณ 950 เยน/ชั่วโมง (ไม่รวมหักภาษี 5%)
  • บทความแนะนำ » อัตราเงินเดือน & ค่าครองชีพในญี่ปุ่น พร้อมค่าใช้จ่ายต่อเดือน

3.3 เตรียมความรู้ด้านภาษาญี่ปุ่น

สิ่งจำเป็นสุดท้ายที่เราต้องเตรียมตัวก็คือการเตรียมความรู้ทางด้านภาษาญี่ปุ่นนั่นเองค่ะ เพราะบางสถาบันอาจกำหนดว่าจะต้องเคยเรียนภาษาญี่ปุ่นมาไม่น้อยกว่า 150 ชั่วโมง หรือประมาณ N5 และเนื่องจากว่ากฎหมายกำหนดให้ชาวต่างชาติเรียนภาษาที่ญี่ปุ่นได้เพียง 2 ปี และมีระยะหางานทำให้อีก 3 เดือนเท่านั้น การไปเรียนโดยไม่มีพื้นฐานเลย จะทำให้เสียโอกาสที่เราจะเรียนได้ถึงระดับสูงอย่าง N2 – N1 ค่ะ บางคนไปเรียนได้ถึงแค่ N3 ก็หมดเวลาก็ต้องกลับแล้ว

หากอยากจะต่อวีซ่า ก็ต้องเปลี่ยนไปเรียนโรงเรียนวิชาชีพ (เซนมง) แทน ก็จะได้วีซ่าต่ออีก 1 – 2 ปี หรือถ้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะได้วีซ่าอีก 4 ปี เรื่องนี้สำคัญมากค่ะ เพราะถ้าจะเรียนให้ประสบความสำเร็จผ่านระดับสูงในระยะเวลา 2 ปี จะต้องเตรียมตัวมาให้ดีด้วยค่ะ ซึ่งเราควรเรียนภาษาญี่ปุ่นปูพื้นจากที่ไทยก่อนอย่างน้อย 3 – 6 เดือน (หากเรียนทุกวัน) แต่ถ้าเรียนแค่วันเสาร์ – อาทิตย์ก็ใช้เวลาเรียนประมาณ 1 ปีค่ะ

งานศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่น

4. ยื่นเอกสารสมัครเรียนต่อกับเอเจนซี่ที่ไว้ใจได้

การเลือกเอเจนซี่ในการดำเนินเรื่องการสมัครเรียนเป็นส่วนสำคัญที่จะกำหนดอนาคตของเราได้ค่ะ เนื่องจากสมัยนั้นแอดมินได้โทรไปถามศูนย์ศึกษาต่อแห่งหนึ่งที่มีการติดต่อกับโรงเรียนที่มีชื่อเสียงหลายแห่งในญี่ปุ่น แต่ว่าถูกปฏิเสธเอกสาร เพราะผู้ค้ำประกันไม่มีเอกสารจดทะเบียนบริษัท (ที่จริงแล้วสามารถใช้จดหมายอธิบายรายได้แนบได้) หรือบางโรงเรียนมีการปลอมแปลงเอกสารจนทำให้เสียเครดิต ทำให้สถาทูตปฏิเสธวีซ่าก็มีค่ะ ดังนั้นควรสำรวจความน่าเชื่อถือของเอเจนซี่ให้ดีค่ะ แนะนำให้ลองไปงานศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่นที่จัดขึ้นทุกปีค่ะ เราจะได้ทั้งข้อมูลการเรียนต่อ และตอบปัญหาหลายๆ อย่าง ช่วยได้เยอะมากเลยค่ะ

ครอบครัวโฮส

5. เปิดใจให้กว้างและออกเดินทางไปสู่โลกกว้างกันเถอะ!

ข้อสุดท้ายนี้สำคัญมากค่ะ เพราะการตัดสินใจไปศึกษา ณ ต่างประเทศ ต้องเจอกับผู้คนมากมาย หากเราไม่เปิดใจและไม่พร้อมเริ่มต้นที่จะก้าวไปสู่สิ่งใหม่ จะทำให้ทักษะภาษาของเราไม่พัฒนาเท่าที่ควรค่ะ เช่น ไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นแต่อยู่กับเพื่อนคนไทยตลอดเวลา ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มอื่นเลย หรือใช้ชีวิตแบบชิลๆ เรียนเสร็จก็กลับบ้าน วิถีชีวิตยังเหมือนตอนที่อยู่ไทยเป๊ะๆ จะทำให้เราเสียโอกาสในการสื่อสารกับคนญี่ปุ่นตัวเป็นๆ ที่อยู่ตรงหน้าไปอย่างน่าเสียดาย นอกจากนี้ แนะนำให้หางานพิเศษทำด้วยค่ะ นอกจากจะได้เงินมาช่วยค่าใช้จ่ายประจำวันแล้ว ยังช่วยพัฒนาทักษะด้านภาษาและฝึกการชีวิตในโลกกว้างได้ดีมากค่ะ

ส่งท้าย

ลองดูนะคะสำหรับคนที่อยากไปเรียนต่อญี่ปุ่นหรือไปเรียนภาษาที่ญี่ปุ่น หากวันนี้ยังไม่พร้อม ก็ยังไม่สายที่จะเตรียมตัว ยิ่งรู้ตัวไว ความสำเร็จก็มาถึงเร็วขึ้นค่ะ คนที่ดูแล้วรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก ก็อย่าพึ่งท้อนะคะ แอดมินรอมา 12 ปีกว่าจะได้ไปเรียนที่ญี่ปุ่น ยังรอได้เลยค่ะ สุดท้ายแล้วภาษาญี่ปุ่นก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นอาชีพหลักในการทำงาน และเราก็เอ็นจอยกับการเที่ยวญี่ปุ่นม้ากมากเลยค่ะ หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คนที่อยากเรียนต่อมีกำลังใจขึ้นมาบ้างนะคะ สำหรับวันนี้สวัสดีค่า


รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com