10 เคล็ดลับเริ่มต้นเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเอง & เรียนภาษาญี่ปุ่นที่โรงเรียน

7752
เรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเอง & เรียนที่โรงเรียน

การเรียนภาษาญี่ปุ่นเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเป้าหมายในชีวิตของเด็กๆ หลายคน รวมไปถึงแอดมินด้วยค่ะ กว่าจะเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเองจนประสบความสำเร็จในการอ่านออกเขียนได้ก็ทุลักทุเลพอสมควร หลายบทความมักจะนำเสนอว่า “ภาษาญี่ปุ่นเป็นเรื่องง่ายๆ” นั่นมันก็แค่เริ่มต้นค่ะ ฮ่าๆ ในชีวิตคนเราหาเงินได้ยากฉันใด ภาษาญี่ปุ่นก็ยากฉันนั้นค่ะ แต่แน่นอนว่าไม่เกินความพยายามของเราไปได้หรอกนะคะ

แอดมินเชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเองได้ ไม่ขึ้นอยู่กับความยากหรือง่ายของภาษา แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจริงจังและอดทนกับการเรียนได้มากแค่ไหนค่ะ ในบทความนี้แอดมินก็มีแนวทางมาฝากสำหรับมือใหม่ที่อยากจะเริ่มต้นเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเองและรวมไปถึงการเรียนที่โรงเรียนด้วยค่ะ จะเรียกว่าเป็นเคล็ดลับการเรียนภาษาญี่ปุ่นจากประสบการณ์ตรงของแอดมินก็ว่าได้นะคะ

คำแนะนำสำหรับมือใหม่ที่อยากเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเอง

1. ปูพื้นฐานก่อนด้วยการทำความรู้จักกับภาษาญี่ปุ่น

ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาหนึ่งที่มีรากฐานตัวอักษรมาจากภาษาจีน และได้พัฒนาจนเป็นภาษาของตนเองที่มีเอกลักษณ์ทั้งด้านการเขียนและเสียงอ่านเป็นของตนเอง ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่ยากติด 1 ใน 5 อันดับของภาษาที่ยากที่สุดในโลก เป็นภาษาที่คนญี่ปุ่นยังต้องพยักหน้ารัวๆ ว่า “ยากจริง” สำหรับผู้ที่เริ่มเรียนก็ต้องฝึกคัดตัวอักษรจนจำได้แม่นและเขียนได้ถูกต้อง และยังต้องท่องศัพท์อยู่เสมอๆ

ตัวอักอักษรญี่ปุ่น

  • ตัวอักษรฮิรางานะ
  • ตัวอักษรคาตาคานะ
  • ตัวอักษรคันจิ

เสียงอ่านภาษาญี่ปุ่น

  • เสียงอ่านแบบญี่ปุ่น (คุงโยมิ)
  • เสียงอ่านแบบจีน (องโยมิ)
  • การออกเสียงภาษาต่างประเทศ (คล้ายกับคำทับศัพท์ของไทย)

2. รู้จักการวัดระดับของภาษาญี่ปุ่นเพื่อกำหนดเป้าหมาย

ระดับภาษาญี่ปุ่นเป็นตัวกำหนดเนื้อหาการเรียน และยังเป็นการวัดความเข้าใจในตัวภาษาอีกด้วย นอกจากนี้ก็มีผลต่อการเข้าโรงเรียนหรือเรียนต่อ และการทำงานในสายงานที่ใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันได้มีการกำหนดไว้เป็น 5 ระดับ เรียงตามความง่ายไปยากตั้งแต่ N5 – N1

  • ระดับ N5-N4 มักจะใช้ในโรงเรียน หรือเพื่อแสดงระดับภาษาญี่ปุ่นภายในโรงเรียน เพื่อแบ่งระดับการสอน
  • ระดับ N3
    • ใช้สำหรับสอบเข้าโรงเรียนเฉพาะทาง หรือวิทยาลัยเทคนิคในญี่ปุ่น (โรงเรียนเซมมง)
    • ใช้สำหรับสมัครเข้าทำงานในประเทศไทย (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของบริษัท)
  • ระดับ N2
    • ใช้สำหรับสมัครเรียนต่อมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรีในประเทศญี่ปุ่น (แต่ต้องมีผลสอบ EJU ด้วย)
    • ใช้สำหรับทำงานพาร์ทไทม์ในบางสายงานในประเทศญี่ปุ่น เช่น ร้านหนังสือ หรือสถานประกอบการณ์ที่ต้องใช้ความรู้ภาษาญี่ปุ่น
    • ใช้สมัครเข้าทำงานในประเทศไทยเป็นระดับมาตรฐานในการรับล่ามทั่วไป
    • ใช้สมัครเข้าเรียนระดับปริญญาโทสาขาภาษาญี่ปุ่น ในประเทศไทย
  • ระดับ N1
    • ใช้สมัครเข้าเรียนระดับปริญญาโท และระดับนักศึกษาวิจัยในประเทศญี่ปุ่น
    • สมัครงานบริษัทภายในประเทศญี่ปุ่น
    • ใช้สำหรับการเรียนต่อในระดับสูงในประเทศไทย
    • ใช้สมัครเข้าทำงานในตำแหน่งที่ต้องใช้ความรู้แบะความแม่นยำด้านภาษาญี่ปุ่นระดับสูง เช่น นักแปล หรือ ล่ามผู้บริหาร การทำงานในสถานทูต เป็นต้น
หนังสือสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น JLPT
หนังสือสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น JLPT

3. ตั้งเป้าหมายการเรียนภาษาญี่ปุ่นปีละ 2 ครั้ง

ทำไมถึงตั้งเป้าหมายปีละ 2 ครั้ง นั่นก็เพื่อการฟิตตัวเองไปสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น หรือ JLPT นั่นเองค่ะ ซึ่งมีตั้งแต่ N5 – N1 ดังที่เราได้อธิบายไว้ในหัวข้อก่อนหน้า เราอาจจะไม่ได้ลงสอบจริง (ค่าสอบแพงขึ้นทุกปี เอิ๊ก~) แต่เราจะได้รู้ตัวว่าความรู้ภาษาญี่ปุ่นของเรานั้นอยู่ในระดับไหน นอกจากนี้เราจะได้รู้อีกว่ามีคนอื่นเป็นหมื่นเป็นแสนจากทั่วโลกที่กำลังพยายามอยู่เหมือนกัน เป็นเคล็ดลับในการปลุกไฟในตัวเราขึ้นมาค่ะ

หากเราสามารถทำตามเป้าหมายการเรียนได้แล้ว การสอบ JLPT ก็น่าจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เป็นอีกทางหนึ่งในการลุกขึ้นมาอ่านหนังสือ ทุกวันนี้แอดมินก็ยังคงนอนกอดหนังสือที่อ่านเท่าไหร่ก็ไม่หมดสักทีค่ะ ยิ่งระดับสูง ก็ยิ่งยาก ได้ระดับ N2 มา ก็สุดยอดแล้ว แต่ก็อยากสอบผ่าน N1 ด้วยค่ะ แต่เราก็ยังไม่ท้อหรอกนะคะ (สู้ไม่ได้ก็จะเอาข้อสอบต้มน้ำกินแทนข้าวค่ะ ฮ่าๆ)

4. เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเรียนภาษาญี่ปุ่น

การเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเองหรือแม้แต่การเรียนในโรงเรียน แน่นอนว่าต้องเริ่มต้นจากตัวเราเอง ซึ่งเราก็มีเคล็ดลับในการเตรียมตัวดังนี้

  • ปูพื้นฐานด้านตัวอักษรให้แน่น การเรียนภาษาใดๆ ก็ตาม หากมีพื้นฐานที่ดีจะทำให้การเรียนในระดับสูงมีความเข้าใจและนำไปใช้งานได้คล่องแคล่วกว่าคนที่มีพื้นฐานอ่อน ดังนั้นเราควรเริ่มจากการจำอักษรให้แม่นยำ ทั้งฮิรางานะ และคาตากานะ จำทั้งการเขียน การอ่าน การฟัง และการออกเสียง หากจำทุกตัวอักษรได้แล้ว เราจะสามารถฝึกฝนภาษาได้ทุกที่ที่เห็น ทุกเสียงที่ได้ยินนั่นเอง
  • ท่องศัพท์สม่ำเสมอ อีกส่วนที่ขาดไม่ได้คือ การมีคลังคำศัพท์ของตัวเอง เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มตั้งแต่เรียนภาษาเลย เมื่อเวลาผ่านไป คลังคำศัพท์เราจะค่อยใหญ่ขึ้นตามประสบการณ์ และสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ภาษาญี่ปุ่นง่ายขึ้น
  • สร้างสภาพแวดล้อมให้รู้สึกกลมกลืน เป็นเรื่องที่หลายๆ คนรู้กันว่าสภาพแวดล้อมมีผลกับการพัฒนาทางภาษาอย่างมาก ดังนั้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมย่อมเป็นเรื่องจำเป็นและได้ผลจริง เช่น คนที่อ่อนด้านการอ่าน ให้ลองอ่านหนังสือนอกเวลาเสริม หรือดูซีรีส์ การ์ตูนด้วยคำบรรยายภาษาญี่ปุ่น คนที่อยากเพิ่มทักษะการพูด ต้องลดความเหนียมอายลง พูดให้มากขึ้น พูดบ่อยๆ หรือจะพูดกับ Siri ก็ได้เหมือนกัน
  • ใช้สื่อต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น เพลง ภาพยนตร์ ซีรีส์ การ์ตูน ไปจนถึงสื่อสังคมออนไลน์ที่มีกิจกรรมหลากหลายที่ทำให้เราเข้าถึงภาษาญี่ปุ่นได้มากขึ้น แล้วนำมาเป็นความรู้ในการใช้งานเพิ่มขึ้นอีกด้วย
  • ฝึกวาดภาพในจินตนาการ เนื่องจากภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ระดับต้นจนถึงระดับสูง จะมีการแบ่งกลุ่ม แบ่งประเภท คำ ประโยค ด้วยความรู้สึก และสิ่งที่เป็นนามธรรม การฝึกวาดภาพในความคิดจะช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้น เช่น การอักษร 山 ที่ใช้รูปลักษณ์ที่มาจากภูเขาในการจดจำลักษณะ หรือคำว่า ‘ขอบคุณ’ ที่ใช้คำว่า ‘สุมิมาเซน (すみません)’ ที่แปลว่า ขอโทษแทนคำว่า ‘ขอบคุณ’ โดยตรง ซึ่งเป็นการสื่อว่า เป็นการขอบคุณที่แสดงความรู้สึกเกรงใจอีกฝ่าย (มีความรู้สึกขอโทษอยู่ในคำเดียวกัน)
ฟันดาบ

5. เตรียมใจ อย่าท้อถอยเมื่อเจออุปสรรค

นอกจากการเตรียมตัวแล้วการเตรียมใจเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการเรียนภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาใดก็ตาม ต้องใช้ใจสู้มากๆ และจะต้องสู้กับใจของตัวเองทุกวัน สู้กับสิ่งที่เราไม่รู้ ซึ่งตัวอย่างสถานการณ์อุปสรรคที่เราอาจเจอได้ในการเรียนภาษาญี่ปุ่น ก็มีดังนี้

  • พอจำตัวหนังสือฮิรางานะ คาตากานะ ได้ แต่พอเจอคันจิ ที่มีเส้นเยอะแยะก็เกิดอาการช็อค
  • พอท่องศัพท์ไปได้ แล้วเจอคำใหม่ ก็ดันลืมของเก่าของเก่า เลยต้องกลับไปทบทวนใหม่
  • พอท่องไวยากรณ์ไป จำได้แม่นว่าใช้อย่างไร แปลว่าอะไร แต่เวลาพูดจริงก็ดันนึกไม่ออก
  • บางครั้งอ่านตัวหนังสือออก อ่านได้ ออกเสียงถูก แต่ดันแปลไม่ได้ จับใจความไม่ได้

เรื่องพวกนี้นับว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เราต้องเจอในการเรียนภาษาญี่ปุ่น หากเราเตรียมใจแล้วแต่เกิดอาการท้อแท้เมื่อเจออุปสรรคหรือปัญหาต่างๆ ก็พูดกับตัวเองสักประโยคอย่าง “สู้โว้ย!” แบบนี้เลยค่ะ ปกติเวลาแอดมินท้อแท้หรือรู้สึกเหนื่อยมากๆ ก็จะส่องกระจกแล้วทำแบบนี้บ่อยๆ บางครั้งแค่สิ่งที่ต้องทำอย่างการท่องจำหรือการคัดตัวหนังสือก็ทำให้เราเหนื่อยแล้ว แต่หากใจเราสู้ ไม่ว่าจะยากแค่ไหน ลำบากแค่ไหน ก็ย่อมไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ เห็นได้จากตัวอย่างก็คือ แอดมินคนเขียนนี่แหละค่ะ ฮ่าๆ

การทำการบ้าน
บรรยากาศการทำการบ้านที่โรงเรียน มีโจทย์เพียงแค่แผ่นเดียว แต่ต้องใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมงกว่าจะทำเสร็จ

6. ทุ่มเทกับการเรียน และรู้จักแบ่งเวลา

เท่าที่แอดมินเคยอ่านบทความจำพวกแนะนำการเรียนภาษาด้วยตัวเองอะไรพวกนี้มามาก มักจะบอกว่า “แม้เพียงเล็กน้อยก็ขอให้ได้อ่านหรือผ่านตาบ้าง” ทำให้หลายคนอาจเกิดความย่ามใจ และใช้ทฤษฎีอ่านเพียงเล็กน้อย แต่ไม่ได้ติดตามผล หรือไม่มีการทบทวนอย่างครบถ้วนกระบวนการตามที่เขาแนะนำ ดังนั้นการเรียนจึงไม่คืบหน้าสักที หรือบางครั้งก็อาจจะเรียนไปได้ระยะหนึ่งและต้องหยุด เพราะรู้สึกว่าการเรียนไม่คืบหน้านั่นเอง

จากประสบการณ์ของตัวเอง ในระดับที่ไม่ใช่คนเก่ง และไม่ชอบท่อง ไม่ชอบอ่าน พอลองทำข้อสอบทีไรก็ผิดตลอด นั่นเพราะว่าความรู้เรายังไม่พร้อม และให้เวลากับการเรียนไม่มากพอนั่นเอง หนังสือบางเล่มบอกใช้เวลาฝึกแค่ 15 – 30 นาทีก็เก่งได้ภายในเวลาเท่านี้ๆ ก็ว่าไปค่ะ ส่วนตัวมองว่าอันนั้นสำหรับคนเก่งความจำดี แต่สำหรับคนธรรมดานั้น ถือว่าค่อนข้างยากเลยค่ะ

แต่ถ้าหากเราอยากจะประสบความสำเร็จในการเรียนภาษาญี่ปุ่นจริงๆ ต้องให้เวลาและทุ่มเทพอสมควรค่ะ อย่างน้อยที่สุดคือวันละ 1 – 2 ชั่วโมง และพัฒนาทักษะทุกด้านไปพร้อมๆ กัน ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน ฉะนั้นก่อนเรียนในเวลา 24 ชั่วโมงใน 1 วันของเรา ให้แบ่งเวลาสักวันละ 2 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น

  • ตอนเช้า ➝ 40 นาที ฝึก 2 ทักษะ (คำศัพท์และไวยากรณ์)
  • ตอนเย็น ➝ 40 นาที ฝึก 2 ทักษะ (การอ่านและ คันจิ)
  • ก่อนนอน ➝ 40 นาที ฝึก 1 ทักษะ (การฟัง)

เราจะไม่รู้สึกว่าการเรียนนั้นหนักหนักเกินไป หากรู้จักการแบ่งเวลาเรียนและเวลาพักให้สมดุลกัน เช่น การนั่งอ่านทบทวนตอนเช้า 40 นาที ตอนเย็นอีก 40 นาที และก่อนนอนก็ฝึกแบบเบาสมองด้วยทักษะการฟัง 40 นาที จะเป็นการดูอนิเมชั่น เกมโชว์ หรือรายการอะไรก็ได้ ใน 1 วันนี้ให้ทำโดยใช้ชุดคำศัพท์คล้ายกันหรือชุดเดียวกัน ทุกทักษะจะช่วยเราทบทวนโดยไม่ต้องท่องเลยนะคะ

ปล. หากใครเรียนที่โรงเรียนสอนภาษาแนะนำให้ฝึกกับเพื่อนๆ 2 – 3 คนหลังเลิกเรียนค่ะ เป็นการทบทวนและแลกเปลี่ยนความรู้ไปด้วยในตัว

Aizu Loop Bus "Haikara-san"

7. เปลี่ยนความคิดในการเรียน และหมั่นฝึกฝนทักษะ

อุปสรรคอันใหญ่หลวงของผู้เริ่มต้นเรียนภาษาญี่ปุ่นคือ การแปลงสารในหัวของตัวเองจากภาษาไทยเป็นภาษาญี่ปุ่น เพราะกว่าจะควานหาคำศัพท์ในหัวเจอ คนฟังก็นั่งรถไฟเลยไปอีก 3 สถานีแล้ว (เวอร์ไป ฮ่าๆ) สุดท้ายเราก็ไม่กล้าพูดออกมาเพราะว่าอายหรือเกรงใจ ที่จริงก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ค่ะ เราใช้ภาษาใดบ่อยๆ สมองก็จะจดจำเป็นความจำหลัก ถึงแม้ว่าจะท่องคำศัพท์ จำไวยากรณ์มาเต็มคลังสมอง แต่ถ้าเรานำมาใช้ไม่ได้ ก็น่าเสียดายนะคะ

จากที่แอดมินลองเรียนแบบไม่แปล (ไม่ได้เรียนโดยใช้ภาษาไทย) ปรับระบบความคิดตัวเองใหม่ ทำให้ค้นพบว่าแท้จริงแล้วไม่ใช่เราเรียนไม่เก่ง แต่เพราะเรายังตีกรอบความคิดตัวเองว่า “เรียนเป็นภาษาไทยแล้วค่อยแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น เอาให้ถูกหลักไวยากรณ์ไว้ก่อน” หากเราหลุดกรอบนี้ได้ ก็จะสามารถพูดได้อย่างเป็นธรรมชาติค่ะ โดยเราจะเรียนรู้จากการใช้ซ้ำๆ ก่อนการเข้าใจไวยากรณ์เสียอีก

วิธีการฝึกคือให้เปลี่ยนความคิดเราโดยวางแผนภาพทุกอย่างเป็นภาษาญี่ปุ่น แล้วจะสามารถนึกได้เร็วและพูดภาษาญี่ปุ่นได้อย่างเป็นธรรมชาติขึ้นโดยไม่ต้องบังคับตัวเองเลยค่ะ ยกตัวอย่างเช่น หากเราเจอสิ่งของรอบๆ ตัวก็ให้เรียกชื่อในใจเป็นภาษาญี่ปุ่น หรือไม่ก็จดโน้ตเอาไว้ เริ่มต้นเราอาจจะเรียกรถเมล์ว่า “รถเมล์” แต่อีก 7 วันถัดมาเราอาจจะเรียกรถเมล์ว่า “บัสสุ” เป็นภาษาญี่ปุ่นโดยอัตโนมัติก็ได้นะคะ

เรียวกัง

8. เรียนภาษาญี่ปุ่นไปพร้อมๆ กับศึกษาสังคมและวัฒนธรรม

ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่แฝงเอาไว้ด้วยวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมมากมาย นำมาซึ่งการเรียกใช้คำศัพท์ต่างๆ ซึ่งหากเข้าใจวัฒนธรรมก็จะสามารถใช้ภาษาญี่ปุ่นได้อย่างถูกต้องและตรงสถานการณ์มากขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้การเรียนรู้วัฒนธรรมทางสังคมก็จะช่วยให้มีชั้นเชิงในการใช้ภาษาญี่ปุ่นได้ดีขึ้น เช่น การใช้คำสุภาพกับผู้อาวุโส การตอบโต้กันในรูปแบบประโยคที่เห็นซ้ำๆ บ่อยๆ

เราแนะนำให้เรียนรู้มารยาททางสังคมจากสังคมปัจจุบันบวกกับวัฒนธรรมที่มีมาแต่ดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นค่ะ จะทำให้เราเข้าใจที่มาและธรรมชาติของภาษามาขึ้น เช่น คนญี่ปุ่นจะไม่พูดว่า “ขอบคุณ” เมื่อมีคนชม แต่จะตอบด้วยความถ่อมตัว อย่างเช่น “ไม่เลย” “ไม่ถึงขนาดนั้นหรอก” เป็นต้น

เพื่อนๆ

9. เพื่อนคือครูที่ดี หาโอกาสคุยด้วยบ่อยๆ

การฝึกภาษาญี่ปุ่นกับเพื่อนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่แนะนำค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไปเรียนภาษาที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสำเนียงการพูดของเราอย่างมาก เกือบ 50% ก็ว่าได้ค่ะ ทั้งลักษณะการใช้คำพูดติดปาก ความเร็วในการพูด รวมถึงวิธีการพูดและมารยาท เราจะซึมซับสิ่งเหล่านี้มาโดยไม่รู้ตัวเลยค่ะ

ดังนั้นการเลือกเพื่อนในการสื่อสารภาษาญี่ปุ่นจึงมีความสำคัญ เช่น หากเราพูดคุยกับคนแถบคันไซบ่อยๆ สำเนียงของเราอาจจะเอียงไปด้านคันไซ และใช้คำศัพท์แปลกหรือเฉพาะถิ่น หากเราเป็นผู้หญิงที่มีเพื่อนผู้ชายที่สนิทกันมากๆ ก็อาจจะกลายเป็นผู้หญิงที่พูดภาษาผู้ชาย ซึ่งจะค่อนข้างออกแนวห่ามๆ ไปสักหน่อย ซึ่งอาจทำให้การพูดกับผู้ใหญ่จะเป็นเรื่องยากขึ้นอีกด้วย (หากไม่ตั้งสติให้ดี)

ทริปโตเกียวดิสนีย์ซี

ส่วนตัวแอดมิน เวลาอยู่ในห้องเรียนก็พูดภาษาแบบนักเรียนพูดค่ะ อาจารย์จะปรับระดับการพูดโดยให้ใช้ระดับภาษาและคำศัพท์ง่ายๆ แต่บังเอิญว่าเราสนิทกับคนญี่ปุ่นในที่ทำงานพิเศษ ซึ่งเป็นผู้หญิงและอายุมากกว่า ทำให้เราสามารถใช้ภาษาพูดกับผู้ใหญ่ได้อย่างไม่เคอะเขิน และมีสติอยู่เสมอว่าให้ใช้รูปสุภาพ อีกทั้งยังสามารถฟังภาษาญี่ปุ่นระดับรัวเร็วของคนฝั่งเกาะโทโฮคุได้ (คนญี่ปุ่นภาคนี้พูดเร็วมาก)

ส่วนเพื่อนแอดมินเป็นผู้หญิงมีนิสัยแมนๆ คลุกคลีกับชายฉกรรจ์ชาวญี่ปุ่นจนสนิทสนมกลมเกลียว ปัจจุบันก็ยังถูกเจ้านายแซวว่าเหมือนคุยกับเด็กผู้ชายทุกครั้ง (ควรจะดีใจมั้ย ฮ่าๆ) แต่ก่อนจะถึงระดับนั้นได้ก็ลองหาเพื่อนที่พูดคุยได้กันให้เจอก่อนค่ะ ใช้ภาษาง่ายๆ ตามหลักการ แล้วค่อยๆ พัฒนา เมื่อเรียนไปถึงระดับหนึ่งแล้ว เราจะแยกระดับภาษาได้โดยไม่ต้องท่องจำและพูดออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติเลยค่ะ

10. แรงบันดาลเป็นบันไดขั้นแรก ความภูมิใจอยู่ที่บันไดขั้นสุดท้าย

หลายคนอาศัยแรงบันดาลใจ หรือสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจบางอย่างทำให้เราก้าวสู่ขั้นสูงสุดของการเรียนภาษาญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นการชื่นชอบไอดอล ซีรีส์ การ์ตูน หรือการท่องเที่ยวญี่ปุ่น แต่บางคนก็อาจจะอยากเรียนภาษาญี่ปุ่น เพราะงานสายนี้ได้เงินเดือนสูงกว่าเมื่อเทียบกับการเรียนสายอื่น (เทียบจากคนใกล้ตัวทั้งหลายของแอดมิน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่สอบวัดระดับได้ JLPT ได้ตั้งแต่แต่ N2 – N3 ขึ้นไป

ดังนั้นการมีแรงบันดาลใจเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เราเข้าสู่หนทางการเรียนภาษาญี่ปุ่น เป็นเหมือนบันไดขั้นแรกที่ทำให้เราตัดสินใจว่า “เอาล่ะ เราจะเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นแล้วนะ!” บางคนก็มีปากท้องเป็นแรงผลักดัน (เรียกว่าแรงบันดาลใจในชีวิต อิ อิ) แต่บางครั้งพอเรียนๆ ไป ระหว่างทางเราจะไม่คิดถึงแรงบันดาลใจใดๆ หรืออาจจะลืมไปกลางทาง แต่ความอดทนจะทำให้เราเดินต่อไปได้ค่ะ

อยากรู้ว่าจริงมั้ยต้องลองไปวิ่งขึ้นบันไดดูค่ะ อิ อิ ท่องว่า “อีกนิดเดียวๆ” ในใจ และเมื่อไปถึงขั้นสุดท้าย ความภูมิใจจะรอเราอยู่ตรงหน้า วันหนึ่งเมื่อเราประสบความสำเร็จ สามารถอ่านออกเขียนได้ ฟังได้เข้าใจ และพูดสื่อสารได้รู้เรื่อง หรือแม้กระทั่งได้ใบประกาศ JLPT มาไว้ในอ้อมกอด รวมถึงตัวเลขเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นในสลิป เราจะรักและขอบคุณการเรียนภาษาญี่ปุ่นมากกว่าที่เคยคาดหวังเอาไว้เสียอีกนะคะ

ส่งท้าย

โดยสรุปแล้วทุกคนสามารถเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเองได้ ไม่ว่าจะไว้ใช้เพื่อการเรียนต่อหรือความบันเทิง (อิ อิ) ซึ่งถ้าจะไปเรียนในโรงเรียนสอนภาษา หรือเลือกเรียนเป็นวิชาเอกหรือโทในมหาวิทยาลัย ก็จะได้เปรียบมากกว่าเล็กน้อย เพราะว่าเรามีพื้นฐานมาบ้างแล้ว หวังว่าเคล็ดลับแนวทางเหล่านี้น่าจะช่วยทำให้เพื่อนๆ เรียนภาษาญี่ปุ่นได้ดียิ่งขึ้นนะคะ

แอดมินเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านจิตใจและสภาพแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน จะทำให้เราเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ การเรียนต้องใช้สมองในการคิดวิเคราะห์และจดจำ แต่มีหัวใจและความรู้สึกมุ่งมั่นเป็นพลังขับเคลื่อน ท้ายนี้ก็หวังว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จในการเรียนภาษาญี่ปุ่นนะคะ สำหรับวันนี้สวัสดีค่า

เขียนเมื่อ May 20,2020
อัพเดทล่าสุด Jul 20, 2021


รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com