วิธีเตรียมตัวรับมือกับแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น สำหรับนักท่องเที่ยว

13563
เตรียมตัวรับมือกับแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น

เราอาจจะเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นกันอยู่บ่อยๆ และที่เกิดเหตุค่อนข้างร้ายแรงจนป็นข่าวดังๆ ก็คือแผ่นดินไหวที่จังหวัดโอซาก้าเมื่อปี 2018 และคาบสมุทรโนโตะที่จังหวัดอิชิกาวะเมื่อปี 2024 

นอกจากนี้เมื่อปี 2025 นี้เอง ก็ยังมีข่าวการปรับปรุงแผนรับมือแผ่นดินไหวใหญ่ “แอ่งนันไก” ซึ่งเป็นแหล่งรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่มีโอกาสก่อให้เกิดแผ่นดินไหวระดับรุนแรง จนทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวไทยหลายคนรู้สึกวิตกกังวลไม่น้อย

ที่จริงแล้วแผ่นดินไหวเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และชาวญี่ปุ่นเองก็ใช้ชีวิตโดยมีการเตรียมพร้อมรับมืออยู่เสมอ แต่ชาวไทยอย่างเราๆ อาจไม่คุ้นชิน ปัจจุบันเรื่องแผ่นดินไหวก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยอีกต่อไปแล้ว จากผลข้างเคียงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างแผ่นดินไหวในเมียนมาร์ล่าสุด และในเมืองไทยเองก็มีรอยเลื่อนแผ่นดินไหวหลายจุด 

ด้วยเหตุนี้ เราจึงอยากชวนเพื่อนๆ มาเรียนรู้ผลกระทบและเตรียมตัวรับมือกับแผ่นดินไหว โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่กำลังจะเดินทางไปท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ในไทยเอง ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ในยามฉุกเฉินเช่นกันค่ะ

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง

แผ่นดินไหวญี่ปุ่น

เริ่มต้นเราจะขอบอกเล่าเกี่ยวกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวกันก่อน และตามด้วยการแนะนำวิธีการเตรียมตัวรับมือกับเหตการณ์เหล่านั้น เพื่อลดความยากลำบากยามเกิดเหตุฉุกเฉินกันนะคะ

แน่นอนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวคือบ้านเมืองเกิดความเสียหาย แต่สิ่งที่เราต้องการจะชี้ให้เห็นคือ ทางประเทศญี่ปุ่นนั้นมีการจัดการปัญหาและผลกระทบอะไรบ้างต่อประชาชนค่ะ

ระบบน้ำ

เนื่องจากระบบท่อน้ำโดยส่วนใหญ่มีการวางท่อจากใต้ดิน เมื่อเกิดแผ่นดินไหวซึ่งมาพร้อมแรงสั่นสะเทือน อาจทำให้ดินยุบหรือพื้นเคลื่อนที่ จนเป็นสาเหตุให้ระบบท่อส่งน้ำส่วนใดส่วนหนึ่งเสียหาย เช่น ท่อบิดเบี้ยว ท่อแตก ส่งผลให้ระบบจ่ายน้ำในพื้นที่ที่ประสบภัย รวมถึงบริเวณใกล้เคียงถูกตัดขาด จนไม่มีน้ำเพื่อใช้อุปโภคบริโภค

ระบบไฟฟ้า

เมื่อเกิดแผ่นดินไหว พื้นที่ในความเสียหายอาจจะถูกไฟจะถูกตัดไฟฟ้า เนื่องจากแผ่นดินไหวอาจจะทำให้เสาไฟล้ม (ในบริเวณที่ยังมีเสาไฟฟ้า) หรือระบบไฟใต้ดินถูกทำให้เสียหาย โดยอาจจะมีการจัดการของรัฐในการตัดไฟ เพื่อป้องกันความเสียหายลุกลามจากไฟฟ้าลัดวงจร เพราะอาจจะเกิดเพลิงไหม้ได้ เพราะมีการสำรวจแล้วว่า อัคคีภัยที่เกิดในตอนแผ่นดินไหวสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากระบบไฟฟ้านั่นเอง

ระบบการเงิน

ปัจจุบันสังคมเข้าสู่ระบบ Cashless กันมากขึ้น หลายคนอาจจะจ่ายเงินผ่านแอปฯ บัตร หรือสแกน QR แต่เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ระบบดังกล่าวอาจจะขัดข้อง ระบบอินเทอร์เน็ต หรือสัญญาณมือถือก็อาจมีปัญหา หรือสามารถใช้ได้เฉพาะในช่วงแรกที่ยังมีไฟฟ้าใช้งาน คนที่ไม่มีเงินสดติดตัวจะลำบากมากกว่าคนที่มีเงินสด นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องคนการแย่งกันกดเงินจากตู้ ATM ในพื้นที่นั้นๆ อย่างมหาศาล

ระบบการสื่อสาร

ปัจจุบันระบบสื่อสารไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต มีทั้งระบบสายและระบบไร้สาย ซึ่งเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ระบบที่ใช้สายอาจถูกตัดขาดก่อน เพราะสายโทรศัพท์อาจขาด แต่ระบบไร้สายอาจจะยังสามารถใช้งานได้ 

แต่กรณีที่แผ่นดินไหวเกิดที่ศูนย์กระจายสัญญาณ ก็อาจจะเป็นสาเหตุให้ระบบไร้สายล่มได้ รวมไปถึงอุปกรณ์รับสัญญาณ เช่น โทรศัพท์ที่อาจจะไม่สามารถใช้ได้ในกรณีที่แบตเตอรี่หมด หรือในช่วงที่มีการโทรออกพร้อมกันจำนวนมาก ทำให้เครือข่ายล่มและโทรไม่ติด

ระบบคมนาคม

สำหรับการคมนาคมที่ให้บริการ อาทิ รถไฟฟ้าหรือรถใต้ดินอาจหยุดให้บริการทันที เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของรางและสถานี ส่วนเครื่องบิน อาจยกเที่ยวบินยกเลิกหรือเที่ยวบินดีเลย์ โดยเฉพาะถ้าสนามบินได้รับความเสียหาย ถนนหนทาง จะเต็มไปด้วยรถยนต์ที่ผู้คนจะอพยพหนีออกจากบริเวณนั้นๆ ส่งผลให้เกิดการจราจรติดขัดอย่างหนัก

อย่างไรก็ตามผลกระทบจากแผ่นดินไหวอาจทำให้ถนนแตกร้าว สะพานพังทลาย รวมถึงมีสิ่งก่อสร้างร่วงหล่นจนกีดขวางช่องทางจราจร หรือร่วงใส่ผู้ที่สัญจรจนเป็นอันตรายได้อีกด้วย

สิ่งที่ควรเตรียมไว้เผื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงสถานการณ์ส่วนหนึ่งที่เราอาจจะต้องเจอเมื่อเกิดภัยทางธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว ดังนั้น เราควรเตรียมตัวอยู่เสมอ และหนึ่งในวิธีที่ง่ายและได้ผลดี คือ “การจัดกระเป๋าฉุกเฉิน” ไว้ล่วงหน้า เพื่อหยิบใช้ได้ทันทีหากเกิดเหตุภัยพิบัติและต้องอพยพกะทันหัน

กระเป๋าฉุกเฉินนี้สามารถจัดเองได้ตามความเหมาะสม และที่ญี่ปุ่นยังมีขายเป็นเซ็ตด้วยค่ะ โดยมีตั้งแต่ราคาย่อมเยา สำหรับ 1 คน และ 2 คน ต่อกระเป๋า 1 ใบ ซึ่งมักประกอบด้วย น้ำดื่ม อาหารแห้ง หมวกนิรภัย หน้ากากอนามัย ถุงมือหนาๆ ผ้าห่ม ยา อุปกรณ์ทำแผล ไฟฉาย นกหวีด เป็นต้น

สำหรับคนที่อาจจะเจอเหตุแผ่นดินไหวในขณะที่เราอยู่ระหว่างการท่องเที่ยว ไม่สามารถนำกระเป๋าฉุกเฉินไปด้วยไป เราก็ขอแนะนำวิธีการง่ายๆ ในการเตรียมสิ่งของให้พร้อมสำหรับรับมือแผ่นดินไหว ดังนี้

น้ำดื่มและอาหารแห้ง

เตรียมน้ำดื่มไว้ในบ้านหรือที่พักเสมอ ญี่ปุ่นจะมีน้ำขนาดขวด 500 ml ควรเตรียมไว้ 2-3 ขวดต่อหนึ่งคน กำลังพอดีค่ะ ส่วนอาหารแห้งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนะคะ แต่เป็นอาหารหรือขนมที่สามารถรับประทานได้เลยโดยไม่ต้องปรุง เพราะการกินอาหารในช่วงอพยพก็เพื่อให้ร่างกายอยู่รอดได้ โดยเน้นอาหารที่มีโปรตีนและให้พลังงานสูง เช่น ถั่วต่างๆ คุกกี้ แครกเกอร์ เอนเนอร์จี้บาร์ และอาหารกระป๋องต่างๆ

เสื้อผ้า เสื้อกันหนาว และของใช้อื่นๆ

ในกรณีที่มาเที่ยวในช่วงฤดูหนาว ควรเตรียมเสื้อผ้าให้เพียงพอต่อการรับมือกับอากาศหนาวที่ไร้ฮีตเตอร์ แนะนำว่าควรจะมีเสื้อกันหนาวขนเป็ดที่รักษาอุณหภูมิได้ดี น้ำหนักเบา กันหิมะได้เล็กน้อย และไม่ต้องซักค่ะ รวมถึงอุปกรณ์กันหนาว เช่น ถุงมือ ถุงเท้า ผ้าพันคอ แผ่นร้อนไคโระ นอกจากนี้ก็ควรเตรียมของใช้จำเป็นอื่นๆ เช่น เสื้อผ้าสำรอง ชุดชั้นใน ทิชชู่เปียก ผ้าอนามัย และผ้าอ้อมเด็ก ขวดนม อาหารเด็ก ในกรณีที่พาเด็กๆ มาเที่ยวด้วย

ยาและอุปกรณ์ทำแผล

ควรเตรียมยาสามัญประจำบ้านที่คิดว่าจำเป็น เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้แพ้ ยาแก้หวัด ยาแก้อักเสบ รวมทั้งยาประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน หอบหืด ควรจะมีพกสำรองติดตัวตลอดเวลา เผื่อกรณีที่ไม่สามารถเข้าอาคารที่พักอาศัยได้หลายวัน นอกจากนี้ก็ควรเตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเล็กน้อยที่สามารถพกพาได้ เช่น ผ้าพันแผล พลาสเตอร์ สำลี แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เผื่อเกิดบาดเจ็บอีกด้วยนะคะ 

พาวเวอร์แบงค์

ในยุคที่ทุกคนต้องใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การรับข่าวสาร การดูแผนที่ หรือแม้กระทั่งการแปลภาษาการ พาวเวอร์แบงค์จึงเป็นสิ่งที่ควรพกติดตัวในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยควรเลือกขนาดความจุไม่เกิน 20,000 mAh เพื่อให้พกขึ้นเครื่องบินได้ และควรชาร์จไฟให้เต็มอยู่เสมอ หรือใครจะเผื่อไว้ สามารถเลือกเป็นรุ่นที่ชาร์จด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ก็ได้ ที่ญี่ปุ่นมีขายค่ะ และที่สำคัญ อย่าลืมพกสายชาร์จไว้ด้วยนะคะ

ไฟฉาย

ปัจจุบันโทรศัพท์ก็มีไฟฉายเช่นกัน แต่ในภาวะฉุกเฉิน โทรศัพท์นั้นต้องใช้แบตเตอรี่ในการใช้พลังงานส่วนอื่นด้วย การมีไฟฉายและถ่านสำรองพกติดตัวเอาไว้จึงเป็นวิธีการเตรียมตัวที่ดีค่ะ โดยเฉพาะในหน้าหนาวญี่ปุ่นช่วงกลางคืนจะยาวกว่า แสงสว่างจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

แผนที่

ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยพกแผนที่ติดตัว แต่เมื่อถึงเวลาวิกฤต โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เราอยู่ในบริเวณที่ไม่คุ้นเคยและไม่คุ้นชินทาง หากระบบสื่อสารใช้งานไม่ได้ หรือแบตเตอรี่โทรศัพท์หมด การมีแผนที่ที่เป็นกระดาษหรือดาวน์โหลดแผนที่ออฟไลน์ไว้ ก็จะช่วยนำทางให้เราได้ในยามฉุกเฉิน หากหลงทาง ก็ยังสามารถใช้แผนที่ในการหาทางออกหรือใช้อธิบายตำแหน่งให้ผู้อื่นช่วยเหลือได้ง่ายขึ้นอีกด้วยค่ะ

พาสปอร์ตหรือเอกสารสำหรับติดต่อสถานทูต

สำหรับชาวต่างชาติแล้ว สถานทูตถือเป็นสถานที่ที่พึ่งได้ดีที่สุดในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน 

  • หากยังสามารถใช้โทรศัพท์ได้ แนะนำให้ติดต่อสถานทูตทันที หรือตรวจสอบข่าวสารออนไลน์ได้ (ใช้การสื่อสารให้รวดเร็วที่สุดก่อนระบบทั้งหมดจะล่ม)
  • กรณีที่การสื่อสารทั้งด้านอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ใช้การไม่ได้ ให้ขอความช่วยเหลือจากศูนย์อพยพ โดยเตรียมเอกสารประจำตัวเอาไว้ ยื่นต่อศูนย์อพยพต่างๆ เพื่อพาเราไปยังสถานทูต จึงแนะนำให้พกเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรไว้กับตัวเสมอค่ะ 

เงินสด

จากรูปแบบสังคมไร้เงินสดทำให้คนไม่ค่อยพกเงินสดติดตัว จึงแนะนำให้ทุกคนแบ่งการใช้จ่ายสำหรับเงินสดและเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็น 50:50 เสมอ เพื่อเป็นทุนสำรองและเผื่อเอาไว้ใช้จ่ายในช่วงเกิดเหตุฉุกเฉินค่ะ เนื่องจากระบบการเงินอาจจะหยุดชะงัก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการชุลมุนในการแย่งเงินสดของประชาชนค่ะ

วิธีการรับมือขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหว

เมื่อรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน สิ่งที่สำคัญคือพยายามควบคุมสติ อย่าตื่นตระหนกจนเกินกว่าเหตุ แล้วปฏิบัติตามแนวทางดังนี้

กรณีเกิดแผ่นดินไหวขณะขับขี่หรืออยู่ในยานพาหนะ

  • หากเกิดแผ่นดินไหวขณะกำลังขับรถให้ลดความเร็วและหยุดบริเวณริมทางเพื่อความปลอดภัย  จากนั้นให้รออยู่ในรถจนกระทั่งแรงสั่นสะเทือนหยุดลง
  • หากกำลังอยู่บนรถไฟ รถบัส หรือรถไฟใต้ดิน ให้จับราวยึดให้มั่น หรืออยู่ในท่าหมอบเพื่อป้องกันการล้ม อย่าพยายามวิ่งหนีหรือเปิดประตูออกจากตัวรถ เพราะอาจเกิดอันตรายจากแรงกระแทกหรือวัตถุตกหล่นได้ 

กรณีเกิดแผ่นดินไหวขณะอยู่นอกอาคาร 

  • หากเกิดแผ่นดินไหวขณะอยู่นอกอาคาร ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้สิ่งปลูกสร้างที่อาจพังถล่มหรือมีวัตถุตกหล่นได้ เช่น อาคารสูง กำแพง เสาไฟฟ้า หรือป้ายโฆษณา ให้ออกมาอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง 
  • หากออกมาพื้นที่โล่งไม่ได้ ให้ใช้สิ่งของ เช่น กระเป๋า หรือแขนของตัวเอง ยกขึ้นมาป้องกันศีรษะไว้ และคอยระวังสิ่งของตกหล่น

กรณีเกิดแผ่นดินไหวขณะอยู่ในอาคาร

หากเกิดแผ่นดินไหวขณอยู่ในอาคาร สิ่งสำคัญ คือ “ตั้งสติ” เป็นอันดับแรกแล้วรีบปกป้องตัวเอง

  • หากอยู่ในอาคารให้มุดเข้าใต้โต๊ะ หรือสิ่งของที่มีโคร้างแนวดิ่งที่แข็งแรง 
  • ให้ระวังเฟอร์นิเจอร์และสิ่งของหล่นลงมา หรือ ปูนซีเมนต์ อิฐ หรือฝ้าเพดานร่วงทับ 
  • หากอยู่ในอาคารสูงให้หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กระจก หน้าต่าง และระเบียง และอย่าวิ่งออกไปภายนอกอาคารทันที
  • ให้รีบปิดวาล์วแก๊ส รวมถึงปิดเบรกเกอร์ไฟฟ้า หากมีการใช้ไฟ เช่น เปิดแก๊ส จุดเทียน ให้รีบดับอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันอัคคีภัย
  • ควรเปิดประตูหรือหน้าต่างไว้ เพื่อไม่ให้บิดหรือติดล็อกจากแรงสั่นสะเทือน ทำให้หนีออกมาได้ง่าย
  • หลังแผ่นดินไหวผ่านไป 1–2 นาที ให้ตรวจสอบความปลอดภัยของคนในครอบครัว สวมรองเท้าหุ้มส้น หยิบกระเป๋าฉุกเฉิน แล้วจึงอพยพ

วิธีการรับมือหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว

แม้แรงสั่นสะเทือนจะหยุดลงแล้ว แต่ผลกระทบจากแผ่นดินไหวยังอาจตามมาได้อีกในช่วงเวลาหลังเกิดเหตุ ซึ่งเราก็มีวิธีการปฏิบัติตัวหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวมาแนะนำดังนี้

หลังเกิดแผ่นดินไหว 5 นาที

  • ตรวจสอบข้อมูลต่างๆ จากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ทางวิทยุ โทรทัศน์ ส่วนช่องทางออนไลน์ ต้องตรวจสอบข้อมูลอย่างระมัดระวัง เพราะอาจเจอข้อมูลที่อาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้
  • ใช้โทรศัพท์เท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันเครือข่ายล่ม เนื่องจากการที่มีคนใช้จำนวนมาก
  • ให้อพยพไปยังศูนย์อพยพที่มีการเตรียมการจากรัฐหรือสถานที่ที่ห่างจากตึกสูง
  • ไม่ควรใช้รถยนต์ส่วนตัวในการอพยพ (ยกเว้นบางพื้นที่ เช่น เขตภูเขา) เพราะอาจทำให้การจราจรติดขัดและขัดขวางการช่วยเหลือจากหน่วยงานฉุกเฉิน

หลังเกิดแผ่นดินไหว 10 นาทีเป็นต้นไป

กรณีที่พื้นที่ข้างเคียงเกิดอัคคีภัย ควรรีบดำเนินการในเบื้องต้นดังนี้

  • ช่วยเพื่อนบ้านหรือผู้ที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อดับไฟขั้นต้น (หากสามารถทำได้อย่างปลอดภัย)
  • ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเบื้องต้น
  • รีบแจ้งหน่วยดับเพลิงหรือเจ้าหน้าที่กู้ภัย เพื่อให้เข้าควบคุมสถานการณ์โดยเร็วที่สุด

หลังเกิดแผ่นดินไหว 1-3 วัน

  • กรณีที่บ้านที่พักไม่ได้รับความเสียหาย ควรเตรียมตัวเผื่อสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดซ้ำ หรือผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว เช่น ร้านค้าในพื้นที่หยุดให้บริการ สินค้าขาดตลาด ถนนถูกตัดขาด
  • กรณีติดอยู่ในบ้านหรือที่พัก หรือต้องรอความช่วยเหลือจากภายนอก ควรตรวจสอบข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ จัดเตรียมสิ่งอุปโภคบริโภค และสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวันให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ระยะเวลาหนึ่ง
  • กรณีที่ต้องอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพ ควรปฏิบัติตามระเบียบของศูนย์ แบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด เนื่องจากการรวมตัวคนจำนวนมากอาจจะก่อให้เกิดโรคระบาดได้

หลังเกิดแผ่นดินไหว 1-7 วัน

  • เฝ้าระวังอาฟเตอร์ช็อกอย่างใกล้ชิด ซึ่งสามารถเกิดได้ตลอดเวลา และอาจมีความรุนแรงแตกต่างกันไป บางครั้งอาจแรงพอที่จะสร้างความเสียหายเพิ่มเติมได้
  • โดยทั่วไปอาฟเตอร์ช็อกอาจเกิดในระยะเวลาสั้นๆ คือช่วง 7 วันแรกหลังเกิดแผ่นดินไหวหลัก หรืออาจจะยาวจนกินเวลาหลายเดือน ขึ้นอยู่กับสภาวะของรอยเลื่อนที่มีการเคลื่อนตัว

คำศัพท์ญี่ปุ่นน่ารู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหว

คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นเสียงอ่านความหมาย
地震jishinแผ่นดินไหว
余震yoshinอาฟเตอร์ช็อก
揺れyureการสั่นสะเทือน
震度shindoระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหว (ระบบญี่ปุ่น)
震源地shingenchiจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว
津波tsunamiสึนามิ
避難hinanการอพยพ
避難場所hinan bashoสถานที่หลบภัย
避難訓練hinan kunrenการฝึกซ้อมอพยพ
安全anzenความปลอดภัย
危険kikenอันตราย
通信障害tsuushin shougaiระบบสื่อสารขัดข้อง
停電teidenไฟดับ
非常口hijouguchiทางออกฉุกเฉิน
非常持ち出し袋hijou mochidashi bukuroกระเป๋าฉุกเฉิน

ส่งท้าย

เชื่อว่าบางอย่างที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่หลายคนอาจเตรียมเอาไว้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไทยหรือไปเที่ยวที่ญี่ปุ่น  การตื่นตัวและเตรียมตัวรับมืออยู่เสมอ จะทำให้เราเอาตัวรอดได้อย่างปลอดภัย ส่วนการเตรียมพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในช่วงที่อาจจะเกิดภัยพิบัตินั้นก็ไม่ใช่ยากค่ะ เราเพียงแค่ต้องใช้ทุกนาทีอย่างมีสติ เพื่อจัดการสถานการณ์เฉพาะหน้าให้ดีที่สุด 

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการแนะนำ ไม่ได้อยากให้ทุกคนกังวลจนเกินไป เหตุผลที่อยากนำเรื่องนี้มาเล่าก็เพราะว่าชาวญี่ปุ่นเขาเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ตลอดเวลาจนเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับคนไทยที่ไม่ได้มีเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆ จึงอยากจะแชร์ข้อมูลให้เข้าใจมากขึ้นเท่านั้นเองค่ะ 

ปัจจุบัน แผ่นดินไหวเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด ขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติในทุกๆ สถานการณ์นะคะ สำหรับวันนี้ สวัสดีค่ะ

ค้นหาและเทียบราคาที่พักในญี่ปุ่น

บทความเตรียมตัวไปญี่ปุ่น ดูทั้งหมด »

รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com