ปลั๊กไฟญี่ปุ่น กระแสไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น เขาใช้แบบไหนกันนะ??

246542
ปลั๊กไฟที่ญี่ปุ่น

สำหรับใครที่กำลังเตรียมตัวจัดกระเป๋าไปเที่ยวญี่ปุ่น เราขอนำเสนอเกี่ยวกับการใช้ปลั๊กไฟญี่ปุ่น ว่าหัวเป็นแบบไหน? ใช้กระแสไฟเท่าไหร่? รวมทั้งวิธีการตรวจสอบว่าอุปกรณ์ที่พกมาจากไทยนั้นจะใช้กับกระแสไฟฟ้าที่ญี่ปุ่นได้มั้ย? แน่นอนว่าทุกคนย่อมพกสมาร์ทโฟนไปด้วยอยู่แล้ว หรือบางคนก็พกกล้องดิจิตอลไปด้วย บางคนอาจพกแท็บเล็ตหรือโน้ตบุ๊คไปด้วย นอกจากนี้คุณผู้หญิงยังมีอุปกรณ์เพิ่มอีก หรืออุปกรณ์เสริมสวยต่างๆ อย่างที่หนีบผม ที่ม้วนผม (เพื่อจะได้สวยเด่นไม่แพ้สาวญี่ปุ่น อิอิ) หลายคนอาจจะมีข้อสงสัยในงานเสียบปลั๊กใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ ดังนั้นเราจะมาคลายข้อสงสัยต่างๆ กันนะคะ

หัวปลั๊กไฟญี่ปุ่นและเต้าเสียบ

ปลั๊กไฟญี่ปุ่นเป็นแบบ Type A โดยใช้ชนิดขาคู่หัวแบน และขาทั้ง 2 ข้างมีขนาดเท่ากัน ถ้าเป็นปลั๊กขาคู่หัวกลมก็ใช้ไม่ได้ ซึ่งหากเป็นหัวแบบอื่น จำเป็นต้องใช้หัวแปลงปลั๊กไฟให้เป็นหัวแบนอีกทีนะคะ

ปลั๊กไฟญี่ปุ่น

ตัวอย่างเต้าเสียบและปลั๊กไฟที่ญี่ปุ่น

Q: ปลั๊กญี่ปุ่นเหมือนไทยไหม?

A: ไม่เหมือน

เต้ารับที่ญี่ปุ่นจะรองรับได้แต่หัวปลั๊กแบบแบน 2 ขาเท่านั้น ซึ่งต่างจากไทยที่เต้ารับในปัจจุบันมักเป็นแบบ 3 หัว ซึ่งรองรับได้ทั้ง 2 ขาหัวแบนหรือหัวกลม และ 3 ขาหัวกลม ดังนั้นเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยจึงมีหลายหัว นอกจากนี้ก็ต้องตรวจสอบกระแสไฟอีกด้วยนะคะ เพราะญี่ปุ่นใช้ 100V ซึ่งต่างกับไทยที่ใช้ 220V หากจะนำไปใช้ที่ญี่ปุ่น จะต้องตรวจสอบทั้งหัวปลั๊กและแรงดันไฟฟ้าของอุปกรณ์ที่จะเอาไปให้ดี

หัวปลั๊กแปลงไฟ

หัวแปลงปลั๊กไฟซื้อจากไทย ราคา 43 บาท

Q: นำหัวแปลงปลั๊กไฟจากไทยไปใช้กับปลั๊กไฟญี่ปุ่นได้ไหม?

A: ใช้ได้ค่ะ

เราสามารถหาซื้อหัวแปลงปลั๊กไฟได้ตามร้านปลั๊กหรือตามร้านสะดวกซื้อในไทยนี่แหละค่ะ ราคาไม่แพง เริ่มต้นที่ประมาณ 39 บาทเท่านั้นเอง ถ้าใครจะไปเที่ยวหลายประเทศ ก็ซื้อเป็นแบบ Universal Adapter เลยก็ได้ แต่สำหรับคนที่ลืมเอามา สามารถหาซื้อปลั๊กไฟที่ญี่ปุ่นได้ตามร้านสะดวกซื้อ ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง Big CAMERA ราคาประมาณ 200 เยน – 300 เยน ถ้าเป็นแบบ Universal รองรับหัวได้หลายแบบก็ 1,000 เยนขี้นไป (ต้องเลือกที่เขียนว่าสามารถใช้ได้ญี่ปุ่นด้วยนะคะ) นอกจากนี้พวกปลั๊กพ่วงจากไทยก็สามารถนำไปใช้ได้เช่นกัน โดยเลือกหัวปลั๊กที่เป็นแบบขาคู่หัวแบน ทั้งนี้ต้องระวังด้วยนะคะ เพราะหัวปลั๊กจะแปลงแค่ขาเท่านั้น ไม่ได้แปลงกระแสไฟค่ะ

ตัวอย่างหัวแปลงปลั๊กแบบ Universal ของญี่ปุ่น
(เสียบกับปลั๊ก 2 ขาคู่หัวกลม)

Q: ถ้าอุปกรณ์ที่เอามาจากไทยเป็นแบบขาคู่หัวแบน จะใช้กับปลั๊กที่ญี่ปุ่นได้เลยหรือไม่?

A: ต้องตรวจสอบกระแสไฟที่รองรับก่อนค่ะ

อุปกรณ์ที่มีหัวชาร์จอย่างสมาร์ทโฟนนั้นไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นอุปกรณ์อื่นๆ ก็อย่าเพิ่งเสียบไปทันทีนะคะ ต้องดูแรงดันกระแสไฟฟ้าก่อน ถ้าระบุว่าใช้ได้ระหว่าง 100V – 240V ก็เสียบใช้ได้เลย!

กระแสไฟฟ้าในญี่ปุ่น

ที่ญี่ปุ่นใช้กระแสไฟฟ้า 100V (โวลต์) ซึ่งน้อยกว่าบ้านเราประมาณครึ่งหนึ่ง เพราะกระแสไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 220V ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ ที่นำไปจากไทยอาจจะใช้งานไม่ได้หรือใช้ได้แต่ไม่เต็มที่ อย่างเช่นที่หนีบผมก็จะร้อนช้ามากกก หรือถ้าหากนำอุปกรณ์ที่รองรับแสไฟฟ้าไฟฟ้าญี่ปุ่นกลับมาใช้ที่ไทยก็จะใช้งานไม่ได้ ดีไม่ดีจะทำให้เครื่องช็อตด้วย เพราะกระแสไฟฟ้าที่ไทยนั้นมากกว่าที่ญี่ปุ่นค่ะ (วิธีการเช็คกระแสไฟอยู่ในบทความด้านล่างนะคะ)

วิธีการตรวจสอบกำลังไฟฟ้าของแต่ละอุปกรณ์

เราสามารตรวจสอบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราพกไปนั้นใช้กับกระแสไฟที่ญี่ปุ่นได้หรือไม่ โดยดูจาก Adapter หรือหัวชาร์จของเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นๆ หรือป้ายสินค้าที่เขาระบุรายละเอียดของเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยตรงค่ะ

หม้อแปลงไฟ

ตัวอย่างกำลังไฟ Adapter ของโน้ตบุ๊ค

จากรูปด้านบนจะเห็นว่า INPUT: 100 – 240V ซึ่งหมายความว่าสามารถใช้กับไฟฟ้าตั้งแต่ 100V ขึ้นไป ถึง 240V ดังนั้นเครื่องใช้ไฟฟ้าในรูปด้านบนก็สามารถใช้กับกระแสไฟที่ญี่ปุ่นได้ อุปกรณ์พวกกล้องถ่ายรูป มือถือ โน้ตบุ๊ค ไดร์เป่าผม ที่หนีบผมหรือม้วนผมไฟฟ้า แบตสำรอง ส่วนใหญ่ใช้ได้หมดค่ะ

ประสบการณ์การนำเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไทยไปใช้ที่ญี่ปุ่น

ที่หนีบผมแบรนด์ญี่ปุ่นซื้อจากในไทย

ที่หนีบผมหรือม้วนผม

สิ่งนี้ต้องใจเย็นค่ะ เพราะกว่าจะร้อนก็นานหลายนาทีเลยไม่ร้อนปุ๊บปั๊บทันใจเหมือนบ้านเรานะคะ ต้องเสียบทิ้งไว้ก่อนจะใช้ อยากสวยต้องใจเย็นๆ >< แต่ปัจจุบันมีบางรุ่นที่ขายในไทย รองรับไฟตั้งแต่ 100-240V ก็สามารถนำมาใช้ในญี่ปุ่นได้เลย ร้อนเร็วเหมือนใช้ที่บ้านเราเลยค่ะ

ไดร์เป่าผม

จากที่ลมแรงๆ จะเบาหวิวยิ่งกว่าพัดด้วยมือซะอีก ท่านใดจะไดร์ผมยามเช้า เคยใช้เวลาไดร์ที่ไทย 15 นาที ถ้าเอาไปใช้ที่ญี่ปุ่นก็ใช้เวลาประมาณ 30 นาที =[]=! แต่โรงแรมส่วนใหญ่จะมีไดร์เป่าผมให้นะคะ ไม่จำเป็นต้องพกมาเอง

ที่ชาร์จแบต

โดยทั่วไปแล้วหัวชาร์จแบตสามารถรองรับไฟได้ทั่วโลก แต่ต้องระวังเรื่องหัวปลั๊ก เพราะบางรุ่นจะเป็นแบบขาคู่หัวกลม จำเป็นต้องใช้จำแปลงก่อน แต่ถ้าเป็นแบบขาคู่หัวแบน ก็ใช้ได้เลย นอกจากนี้ปลั๊กไฟญี่ปุ่นในบางที่ อย่างในรถไฟชินคันเซ็น รถบัส ก็เป็นหัวแบบ USB ให้ไว้ชาร์จอุปกรณ์ได้เลย

ปลั๊กพ่วง

สามารถนำปลั๊กพ่วงจากไทยมาใช้ได้ไม่มีปัญหา แค่ระวังเรื่องหัวปลั๊กพ่วง เพราะต้องเป็นแบบขาคู่หัวแบน ถ้าเป็นแบบสามหัว ก็ต้องใช้หัวแปลงปลั๊กมาต่อก่อน แต่แนะนำว่าควรซื่้อให้เป็นแบบขาคู่หัวแบนมาเลยจะดีกว่าค่ะ

ค้นหาโรงแรมที่พักในญี่ปุ่น


บทความที่เกี่ยวข้อง

รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com