10 เรื่องเล่าเกี่ยวกับบ้านญี่ปุ่น & การใช้ชีวิตสไตล์ญี่ปุ่น ฉบับไม่ลับ!

5595
ประตูบ้านญี่ปุ่น

สวัสดีค่า วันนี้แอดมินก็อยากแชร์ประสบการณ์ที่ได้ไปอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่นมา เรื่องราวเหล่านี้หวังว่าน่าจะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น หรือยุ่งยากกันแน่ (ฮ่าๆ) เอาเป็นว่าประสบการณ์ที่ได้อาศัยอยู่บ้านญี่ปุ่นและใช้ชีวิตสไตล์ญี่ปุ่นในบทความนี้น่าจะช่วยเปิดโลกการใช้ชีวิตแบบใหม่ๆ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ คน ไอเดียดีๆ มีเยอะแยะมากมายเลย ซึ่งแอดมินพยายามจะประยุกต์ใช้กับบ้านเรานะคะ ว่าแล้วไปดูกันดีกว่าค่า!

ที่ล็อคประตูบ้าน

1. ปลดล็อคประตูบ้านอย่างกับปลดล็อคเซฟ

ขอเริ่มตั้งแต่หน้าบ้านหรือกลอนประตูกันเลยนะคะ แอดมินหมุนผิดตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปอยู่ ผ่านไปหลายปีก็ยังคงหมุนผิดจนถึงทุกวันค่ะ ฮ่าๆ เนื่องจากว่ากลอนบ้านญี่ปุ่นนั้นไม่ง่ายเลย เสียบกุญแจแล้วหมุนประมาณ 2 รอบแล้วกลับมาอีกครึ่งรอบ เพื่อให้กลอนที่ล็อคอยู่ปลดออกทั้ง 2 ชั้น แล้วยังต้องปลดกลอนหมุนด้านล่างอีกชั้น

บางบ้านจะเป็นรหัสแล้วให้หมุนกลอนอีกชั้น หากเป็นบ้านสมัยเก่าจะเปิดง่ายหน่อยหมุนแค่รอบครึ่ง นอกจากนี้ ตรงมุมประตูก็ยังมีเหล็กยึดอย่างแน่นหน้า ยิ่งในแถบหนาวจะเป็นบานประตูแบบเก็บขอบเพื่อไม่ให้หิมะหรือความเย็นเข้ามาในบ้าน ประตูบ้านญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงค่อนข้างหนัก เป็นการฝึกกล้ามค่ะ ซึ่งต่างกับที่ไทยที่ใช้ประตูไม้เป็นหลัก กลอนก็สะเดาะง่ายกว่าเยอะค่ะ แถมประตูบางบานก็ยังมีช่องด้านใต้ให้แอร์ลอดผ่าน ให้จิ้งจกมุดเข้ามาได้อีกด้วย

2. ถอดรองเท้าและเก็บร่มในบ้าน

เป็นอีกส่วนหนึ่งของบ้านญี่ปุ่นที่ชอบมากๆ ค่ะ เพราะบ้านแบบไทยจะถอดรองเท้ากันไว้หน้าบ้าน บางทีก็มีงูเงี้ยวเขี้ยวขอเข้าไปอาศัยในรองเท้าอีก บางครั้งก็ปัญหาเวลามีแขกมา รองเท้าก็เกลื่อนกราดเต็มหน้าบ้าน แต่ว่าบ้านญี่ปุ่นจะมีส่วนหน้าบ้านที่อยู่หลังประตูบ้านค่ะ ง่ายๆ คือเป็นพื้นที่ถอดรองเท้า เก็บรองเท้าและเก็บร่มค่ะ เราชอบเพราะดูแลรองเท้าง่ายและไม่ค่อยลืมร่มด้วย จะออกจากบ้านก็แค่หยิบหลังจากใส่รองเท้าเสร็จ บางบ้านจะกั้นเป็นห้องค่ะ กันฝุ่นหรือกลิ่นเข้าในบ้าน ถ้ามีโอกาสสร้างบ้านเอง แอดมินก็อยากจะกั้นพื้นที่เอาไว้สำหรับทำที่ถอดรองเท้าเหมือนกันนะคะ

อินเตอร์โฟน

3. ส่องคนข้างนอกประตูบ้านด้วยอินเตอร์โฟน

อินเตอร์โฟน (Interphone) หรือ วิดีโอดอร์โฟน (Video Door Phone) หรือเรียกแบบบ้านๆ ว่า “ระบบกริ่งแบบเห็นหน้า” ถือได้ว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าพื้นฐานของบ้านสมัยใหม่ในญี่ปุ่นเลยค่ะ เพราะว่าบ้านส่วนใหญ่อยู่ในตึก เราจะไม่เห็นคนที่มาเยือน ดังนั้นการที่เราเห็นหน้าคนที่มาหา ทำให้เลือกได้ว่าจะเปิดหรือไม่เปิดประตูต้อนรับ บางทีเจอคนมาขายประกันก็เลี่ยงได้ด้วยค่ะ

ที่สำคัญใครที่ผ่านมาหน้าบ้าน หรือมากดกริ่งก่อกวนก็จะถูกบันทึกภาพเอาไว้ด้วยเช่นกัน แอดมินโดนป่วนบ่อยสมัยอยู่บ้านเดิมที่ญี่ปุ่น นอกจากเห็นหน้าแล้วก็ยังพูดคุยตอบโต้ก่อนเปิดประตูได้ด้วยค่ะ บางทีพึ่งตื่นก็จะบอกให้เขารอสักครู่ เตรียมตัวก่อนเปิดประตูสักนิดชีวิตก็ Keep Look ได้มากค่ะ สำหรับคนที่ชอบสั่งของออนไลน์แล้วมีคนมาส่งของ ก็จะรู้ได้ทันทีไม่ต้องชะเง้อรอบ่อยๆ ด้วย ชอบมาก

ห้องน้ำ

4. ห้องน้ำใช้ประตูเปลืองมาก

ในขณะที่ประเทศไทยจะรวมห้องน้ำ ห้องส้วมเอาไว้ด้วยกัน บางบ้านห้องน้ำก็คือห้องส้วม หรือบางบ้านก็แยกพื้นที่แห้งเปียก แต่ยังคงอยู่ในห้องเดียวกัน แต่ทว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่แยกห้องส้วม ห้องอาบน้ำ ห้องล้างหน้าและห้องซักล้างออกจากกันค่ะ แน่นอนว่า ทุกห้องจะมีประตูกั้น

ห้องอาบน้ำเป็นห้องสำหรับการอาบน้ำ แช่น้ำร้อน เปียกพื้นทุกส่วน แต่ห้องส้วมจะเป็นห้องสำหรับขับถ่ายที่เป็นพื้นที่แบบแห้ง เวลาทำความสะอาดก็มีน้ำยาเฉพาะที่ไม่ทำให้ห้องส้วมเปียกแต่อย่างใด ส่วนกระจกและอ่างล้างหน้าก็จะแยกอยู่ที่ห้องแต่งตัว หรือเป็นห้องล้างหน้า แน่นอนว่าเป็นแบบแห้งเช่นกันค่ะ บางบ้านรวมห้องซักผ้าเอาไว้ตรงนี้ แต่บางบ้านก็แยกโซนอีกทีค่ะ

หากถามว่าชอบมั้ยก็ชอบนะคะ เป็นสัดส่วนและไม่ต้องเหยียบห้องน้ำเปียกเวลาที่เราต้องการล้างมือ ทำความสะอาดก็ง่ายด้วย แต่ว่าขี้เกียจเปิดประตูค่ะ คิดดูนะคะ ถ้าเราจะเข้าห้องส้วม เปิดประตูห้องแต่งตัว (มักจะอยู่หน้าห้องน้ำ) แล้วถึงจะเปิดประตูห้องส้วมได้ บางบ้านที่แยกหห้องไปเลยก็ดีค่ะ และหากจะอาบน้ำก็ต้องเปิดประตูสองชั้น ถ้าจะทำกิจกรรมทุกอย่างก็ต้องเปิด-ปิด ไม่ต่ำกว่า 3-6 รอบ เป็นการบริหารกล้ามแขน (ฮ่าๆ)

ตู้เสื้อผ้า

5. ตู้เสื้อผ้าคือห้องแห่งความลับ

เนื่องจากว่าบ้านในญี่ปุ่นมีพื้นที่น้อย ดังนั้นบ้านญีปุ่นสมัยใหม่มักจะทำที่แขวนเสื้อผ้าฝังเอาไว้ในผนังห้อง แล้วเปิดแบบบานเลื่อน หากเราเข้าไปในบ้านคนญี่ปุ่น เราจะอาจจะไม่เห็นตู้เสื้อผ้าของบ้านนั้น จนน่าสงสัยว่าเขาเอาเสื้อผ้าไปเก็บไว้ที่ไหน พอสไลด์ผนังเปิดออกมาเท่านั้นแหละ ทั้งผนังคือที่แขวนผ้า ที่เก็บของ ที่เก็บกระเป๋าเดินทาง บลาๆ

6. ซักผ้าโดยไม่ตากแดด!

เรื่องนี้อาจจะค่อนข้างแสลงในใจของคนไทยที่คุ้นเคยกับการตากผ้านอกบ้านท่ามกลางแดดเปรี้ยงๆ มานานแสนนานค่ะ แต่ปัจจุบันด้วยวิถีชีวิตของคนในเมือง คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่เวลาไม่ได้เอื้ออำนวยเสมอไป การใช้ชีวิตย่อมมีการปรับตัวอย่างแน่นอน ที่ญี่ปุ่นเรียกว่าตากผ้านอกบ้านได้อย่างมากแค่ปีละไม่เกิน 3 เดือน นอกเหนือจากนั้นก็จะชื้นจนราขึ้นเลยค่ะ ส่วนใหญ่คนจึงไม่ค่อยเห็นที่ตากผ้ากลางแจ้งเท่าไหร่

ที่จริงญี่ปุ่นมีห้องตากผ้าด้วย (ใช้ฮีตเตอร์) แบะห้องอาบน้ำบางบ้านจะมีฮีตเตอร์ตากผ้าด้วยค่ะ แต่สิ่งที่คิดว่าเหมาะกับบ้านเราคือเครื่องซักผ้าที่มีเครื่องอบค่ะ หลังจากซักแล้วผึ่งไว้สัก 10 – 20 นาทีก็แห้งสนิท อีกหนึ่งขอดีที่เราค้นพบคือ เสื้อผ้าสีไม่ซีดค่ะ (กลัวซีดก็ต้องปรับความร้อนตอนอบ) อีกอย่างหน้าฝนก็ไม่ต้องคอยกังวลว่าผ้าจะเปียกมั้ย เป็นอีกวิถีชีวิตหนึ่งที่แอดมินเคยชินและแนะนำ สำหรับคนที่ไม่มีเวลาตอนกลางวันเหมือนเราค่ะ (ปัจจุบันก็ตากในห้องค่ะ ไม่ตากผ้ากลางแจ้ง)

น้ำประปา

7. น้ำประปาดื่มได้ แต่ไม่อร่อย

เราเคยอ่านบทความที่บอกว่าน้ำประปาญี่ปุ่นดื่มได้อยู่หลายบทความค่ะ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันจะอร่อยจนน่าพิศมัยขนาดนั้น ก็ยังมีกลิ่นคลอลีนอยู่ แต่อาจจะไม่แรงเท่ากับบ้านเราเท่านั้นเอง บางคนอาศัยประหยัดก็จะดื่มน้ำประปาเป็นหลัก แต่บางคนจะใช้ขวดเติมจากซูเปอร์มาร์เก็ตค่ะ เพราะน้ำดื่มก็แพงพอสมควร นอกจากน้ำชงชาที่ควรใช้น้ำแร่แล้ว ก็ดื่มน้ำธรรมดานี่แหละค่ะ ส่วนตัวคิดว่าก็ไม่อร่อยอะไรมากมายนัก

8. ชุดซ้อนส้อมเป็นของหาซื้อยาก

ว่าด้วยเรื่องของอาหารการกิน เรียกได้ว่าลำบากพอสมควรสำหรับประเทศที่ใช้ซ้อนและส้อมในการทานข้าวอย่างคนไทย เพราะชาติตะวันตกจะใช้ ซ้อมกับมีด และใช้ช้อนตักซุป ญี่ปุ่นก็ใช้ตะเกียบ มีแค่ไทยกับเพื่อนบ้านอีกไม่กี่ประเทศที่ใช้ช้อนคู่กับส้อมในการทานข้าวค่ะ เวลาหาซื้ออุปกรณ์ทานข้าวที่ญี่ปุ่นนั้นยากมาก จะเจอแค่ส้อมหรือไม่ก็ช้อนอย่างเดียว สุดท้ายก็หันไปใช้ตะเกียบแทนเพราะหาง่ายกว่า ก็น่าแปลกนะคะ สิ่งของธรรมดาในบ้านเรากลับกลายเป็นเรื่องยากเมื่ออยู่ในต่างแดน จนตอนนี้ถ้าต้องไปพักที่ญี่ปุ่นนานๆ ก็จะพกแบบส่วนตัวไปด้วยค่ะ สะดวก อิ อิ

9. ถนอมอาหารแบบแบ่งเก็บใส่ตู้เย็น

เรียกว่าเป็นวิธีคิดของคนญี่ปุ่นที่เราชอบเป็นพิเศษค่ะ เพราะว่าทำให้เรานำวัตถุดิบมาทำอาหารง่ายขึ้นและสะดวกขึ้นมาก โดยทั่วไปเราจะถนอมอาหารแบบเก็บสิ่งที่เหลือจากการทำอาหารมื้อนี้ในตู้เย็น โดยใส่กล่องรวมกันไว้แล้วหยิบมาใช้ทีเดียว แต่ว่าญี่ปุ่นจะเก็บแบบแบ่งใช้ เพื่อให้หยิบใช้ได้สะดวก และสะดวกต่อการเก็บรักษานั่นเองค่ะ

ตัวอย่างเช่น

  • ข้าวสวย ➝ ทำเป็นห่อเล็กๆ ขนาด 1 ถ้วย ห่อด้วยพลาสติกอย่างดี แล้วเก็บไว้ในช่องแช่แข็ง หากจะรับประทานก็นำออกมาอุ่นเป็นก้อนๆ ทำให้ข้าวส่วนอื่นๆ ยังถูกถนอมเอาไว้เป็นอย่างดี และไม่ต้องเสียเวลาอุ่นข้าวหลายครั้งด้วย อีกทั้งยังคงความอร่อยของข้าวเอาไว้ได้อีกด้วยนะคะ เช่นนี้แล้ว การหุงข้าวครั้งเดียวก็สามารถเก็บไว้ทานได้หลายๆ วัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อยู่ตัวคนเดียว หรืออยู่กันแค่ 2 คน
  • น้ำซุป และเครื่องเคียงอื่นๆ ➝ ทำน้ำซุปเพียงครั้งเดียวแบ่งเอาไว้ในปริมาณเท่าๆ กัน แล้วนำออกมาอุ่นเฉพาะส่วนที่จะทานค่ะ นอกจากน้ำซุปแล้วยังมีสลัด และเครื่องเคียงที่คนญี่ปุ่นมักจะทำเก็บเอาไว้ค่ะ ในครอบครัวใหญ่อาจจะไม่ต้องเก็บเยอะ เพราะทานไม่กี่มื้อก็หมด แต่สำหรับชีวิตแบบคนรุ่นใหม่ที่เป็นครอบครัวเล็กๆ ทำทีหนึ่งอยู่คุ้มไปอีกหลายวันค่ะ

10. มีละครน้ำเน่าช่วงบ่ายของคุณแม่บ้าน

ใครว่ามีแต่ละครไทยที่น้ำเน่า ญี่ปุ่นก็มีละครน้ำเน่าฉายในทีวีช่วงบ่ายเหมือนกัน เป้าหมายอยู่ที่คุณแม่บ้านที่ทำงานบ้านได้พักผ่อนดูละครช่วงบ่ายกันค่ะ อารมณ์แม่สามีลูกสะใภ้ หรือสลับลูกกันเลี้ยง แม้กระทั่งการพลัดพรากอะไรทำนองนั้น ถ้าเป็นหนุ่มสาววัยทำงานจะไม่ค่อยเจอ เพราะวันธรรมดาต้องทำงาน ถ้าปิดเทอมเมื่อไหร่ก็จะเห็นได้บ่อยๆ เชียวล่ะ ก็เป็นอีกมุมที่เราไม่เคยเห็นนะคะ ว่าญี่ปุ่นก็มีละครน้ำเน่ากับเขาด้วย

ส่งท้าย

คิดว่าช่วงนี้เพื่อนๆ น่าจะอยู่บ้านกันยาวๆ ไป และสิ่งที่ตามมาก็คืองานบ้าน งานเรือนและใช่มั้ยคะ หวังว่าเรื่องเล่าเล็กๆ น้อยๆ ในบ้านญี่ปุ่นนี้จะช่วยให้คนที่ต้องอยู่ที่บ้านได้ผ่อนคลายกันได้บ้างนะคะ สำหรับแอดมินก็คิดถึงญี่ปุ่นเป็นพิเศษค่ะช่วงนี้ รู้สึกว่าไม่ได้บินไปนานแล้ว สำหรับคนที่คิดถึงญี่ปุ่นเหมือนแอดมินก็ให้ติดตามเว็บไซต์ของเรานะคะ ช่วงนี้จะพยายามอัพบทความเกี่ยวกับญี่ปุ่นๆ ในมุมต่างๆ ให้ได้อ่านกัน สำหรับวันนี้ก็ขอลาไปก่อน สวัสดีค่า

บทความที่เกี่ยวข้อง

รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com