สวัสดีค่า หลายคนอาจจะอยากรู้ว่าคนญี่ปุ่นเขาทำอะไรกันในช่วงปีใหม่ วันนี้เราก็มีบทความวัฒนธรรมและประเพณีการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แบบชาวญี่ปุ่นมาฝากกันค่ะ นั่นก็คือ “10 สิ่งที่ชาวญี่ปุ่นนิยมทำในช่วงวันขึ้นปีใหม่” ใครอยากสัมผัสบรรยากาศฉลองเทศกาลปีใหม่แบบญี่ปุ่นๆ ถ้ามีโอกาสได้กลับไปท่องเที่ยวอีก ก็ลองหาได้ในทริปช่วงนี้นะคะ

ชาวญี่ปุ่นนิยมทำอะไรในช่วงวันขึ้นปีใหม่?

1. ทานโซบะอายุยืน

โซบะอายุยืน หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า โทชิโคชิโซบะ (年越しそば) เป็นอาหารมงคลสำหรับรับประทานในคืนส่งท้ายปีเก่า (วันที่ 31 ธันวาคม) ชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าการกินโทชิโคชิโซบะจะทำให้มีอายุยืนยาวเหมือนกับความยาวเส้นโซบะนั่นเอง คนที่อยากลองทานบ้าง ก็แนะนำตามร้านโซบะได้เลยค่ะ แต่ละร้านจะติดป้ายโซบะอายุยืนเอาไว้ในวันสิ้นปีด้วย

2. ทานชุดอาหารขึ้นปีหม่

ชุดอาหารขึ้นปีใหม่ หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า โอเซจิเรียวริ(おせち料理)เป็นอาหารที่เตรียมไว้รับประทานใน 3 วันแรกของปีใหม่ (คนญี่ปุ่นจะไม่ทำงานกันในช่วงนี้นะคะ) และเพื่อให้แม่ๆ ได้พักผ่อนจากการทำงานบ้านอีกด้วย ชุดอาหารวันปีใหม่จะจัดในภาชนะเครื่องเขิน คล้ายๆ ปิ่นโตขนาดใหญ่ โดยทั่วไปจะซ้อนกัน 2 – 3 ชั้น ประกอบด้วยอาหารมงคล พวกปลาย่าง ไข่ปลา ถั่วดำเชื่อม ปัจจุบันมีพวกอาหารชุดปีใหม่วางขายด้วยค่ะ เรียกว่าเป็นอาหารที่จะหาทานได้เฉพาะช่วงปีใหม่ ใครมีโอกาสมาเที่ยวก็ลองซื้อมาทานกันนะคะ

3. ทานโอโซะนิ 

โอโซนิ(おそうに)เป็นซุปมิโซะใส่โมจิที่จะทานเฉพาะช่วงปีใหม่เท่านั้นค่ะ หลายท่านอาจจะสงสัยว่าต่างจากซุปมิโซะที่เคยทานอย่างไร? ในซุปมิโซะนี้จะประกอบด้วยโมจิเป็นก้อนกลมสำหรับแถบคันไซ และโมจิเป็นรูปสี่เหลี่ยมสำหรับแถบคันโต ใส่ปลาตัวเล็กๆ หรือผักอืนๆ เช่น หน่อไม้ เห็ด ลงไปต้มกับมิโซะ จนได้เป็นซุปมิโซะโมจิสำหรับปีใหม่ค่ะ ท่านใดที่มาเที่ยวช่วงปีใหม่ ถ้าได้เจอซุปมิโซะใส่โมจิก็ถือว่าโชคดีได้ทานอาหารมงคลช่วงปีใหม่ของญี่ปุ่นแล้วค่ะ

4. ดื่มเหล้าสาเกใส่สมุนไพร

เหล้าสาเกใส่สมุนไพร หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า โอโทโสะ(おとそ)เป็นสาเกใส่สมุนไพรที่จะดื่มกันในวันปีใหม่ค่ะ สมัยก่อนจะเสิร์ฟในกาและชุดเครื่องเขิน ดื่มสำหรับช่วยย่อยอาหารที่เราทานเข้าไปเยอะแยะมากมายในช่วงงานเลี้ยงค่ะ ปัจจุบันสมุนไพรตัวนี้จะทำเป็นถุงสำเร็จรูปขายตามท้องตลาด นำมาแช่ลงในสาเก ว่ากันว่าช่วยบำรุงสุขภาพอีกด้วย

5. ทานข้าวต้ม 7 สมุนไพร

ข้าวต้ม 7 สมุนไพร หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ฮารุโนะ นานะคุสะคายุ(春の七草かゆ)อาหารมงคลที่แทบจะไม่เคยได้ยินชื่อเลย เพราะไม่ใช่อาหารที่ทานกันนอกบ้านอย่างโซบะหรือซุปมิโซะที่ทานกันเป็นประจำ ข้าวต้ม 7 สมุนไพรนี้ประกอบด้วยสมุนไพรทั้ง 7 ของฤดูใบไม้ผลิซึ่งจะทานในวันที่ 7 มกราคมของทุกปี ถือว่าเป็นอาหารบำรุงสุขภาพอย่างหนึ่งและเป็นการพักร่างกายจากงานเลี้ยงปีใหม่อันยาวนานนั่นเอง ปัจจุบันมีใส่กล่องสำเร็จรูปขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ข้อนี้อาจจะยากสำหรับนักท่องเที่ยวนะคะ แต่สำหรับคนที่อยู่ฉลองปีใหม่กับคนญี่ปุ่นอาจจะได้ทานค่ะ

คาโดมัสสึ และ ชิเมคาซาริ(門松 & 注連飾り)

6. ประดับของมงคลวันปีใหม่

ในส่วนของการประดับประดาตามบ้านเรือนก็มีสัญลักษณ์ของปีใหม่ให้เห็นนะคะ โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 ประเภทได้แก่ คาโดมัสสึ (門松) และ ชิเมคาซาริ(注連飾り)คนที่ไปเที่ยวช่วงปีใหม่ต้องได้เห็นแน่นอนเพราะไม่ว่าจะเป็น บ้าน บริษัท ห้างร้านต่างๆ จะประดับเพื่อความเป็นสิริมงคลทั้งนั้น

  • คาโดมัสสึ เป็นของประดับประกอบทำจากไม้ไผ่และช่อดอกบ๊วย หรือทำแบบง่ายๆ ด้วยกิ่งสนห่อด้วยกระดาษญี่ปุ่น สิ่งนี้จะนำออกมาช่วงปีใหม่เพื่อต้อนรับเทพเจ้าและบรรพบุรุษ และขอให้อายุยืน เจริญรุ่งเรืองอีกด้วย เราจึงได้เห็นเฉพาะในช่วงปีใหม่เท่านั้นค่ะ
  • ชิเมคาซาริ เป็นเชือกศักดิ์สิทธิ์ที่ทำด้วยฟางข้าวมีกระดาษสีขาวห้อยอยู่กับส้ม กุ้งมังกรและใบเฟิร์น ส่วนใหญ่จะแขวนไว้หน้าประตูบ้าน เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย เพียงแค่เงยหน้าขึ้นก็เห็นค่ะ

7. ให้เงินขวัญถุง

คิดว่าหลายคนน่าจะชอบเทศกาลนี้ขึ้นมาอีกหน่อยโดยเฉพาะเด็กๆ เพราะผู้ใหญ่จะให้เงินขวัญถุงแก่เด็กๆในวันขึ้นปีใหม่เรียกว่า โอโตชิดามะ(お年玉) เริ่มจากสมัยก่อนได้มีการแลกของขวัญกันในวันปีใหม่ต่อมากลายเป็นผู้ใหญ่ให้ของขวัญกับเด็กๆ ค่ะ โดยจำนวนเงินจะแตกต่างกันไปตามอายุและฐานะของครอบครัว โดยเฉลี่ยสำหรับเด็กประถมและมัธยมอยู่ที่ประมาณ 30,000 เยน การให้ส่วนใหญ่จะอยู่ในหมู่เครือญาติและผู้ใหญ่ที่สนิทกัน เราก็เคยได้แต่ยอดไม่แตะถึงค่าเฉลี่ยเลย (ฮือ~)

8. ไหว้พระขอพรที่ศาลเจ้าหรือวัด

ปีใหม่ไทยยังมีการสวดมนต์ข้ามปี ประเทศญี่ปุ่นก็มีการขอพรเทพเจ้าหรือขอพรพระในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เช่นกันค่ะ ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ฮัสสึโมเดะ (初詣) โดยหลังจากที่พระวัดตีระฆังส่งท้ายปีเก่าแล้ว ผู้คนจำนวนมาจะมาขอพรที่ศาลเจ้าหรือวัดด้วยการโยนเหรียญลงไปในกล่องหน้าพระประทานหรือที่สักการะเทพเจ้า และหลังจากไหว้พระแล้วก็อย่าลืมซื้อเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์หรือเรียกกันว่า โอมาโมริ (お守り) ต่อด้วยการเสี่ยงเซียมซีแรกของปีค่ะ หากดีก็เก็บกลับบ้านใบไหนไม่ดีก็มัดทิ้งเอาไว้ที่ศาลเจ้าหรือวัด เชื่อว่าเพื่อไม่เป็นการนำโชคร้ายกลับบ้านด้วยนั่นเอง

หมายเหตุ: ในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ รถไฟจะวิ่งเกือบตลอดทั้งคืนเพื่อรองรับผู้ที่ออกมาไหว้พระขอพรค่ะ

9. ส่งไปรษณีย์บัตรปีใหม่

การส่งไปรษณีย์บัตรปีใหม่ หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า เน็งกะโจ (年賀状) เป็นไปรษณีย์บัตรสำหรับปีใหม่โดยเฉพาะ ใช้สำหรับการแนะนำตัวหรือเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ในไปรษณีย์บัตรมักจะมีคำอวยพรสั้นๆ เพื่อเป็นการแสดงความห่วงใยระหว่างผู้ส่งที่มีให้ผู้รับนั่นเอง ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นยังคงนิยมส่งไปรษณีย์บัตรปีใหม่กันอยู่มาก จึงมีลวดลายต่างๆ ออกมามากมาย อาทิ ลายการตูนดิสนี่ย์ หรือลายมงคลอื่นๆ เป็นต้น สามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไปค่ะ

10. ช้อปถุงโชคดี (Lucky Bag)

ถุงโชคดี (Lucky Bag) หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ฟุคุบุคุโระ (福袋) เป็นเทศกาลสมัยใหม่ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการตลาดและเพื่อจัดการสินค้าของร้านค้า โดยถุงโชคดีที่ว่านี้จะนำสินค้าที่มีมูลค่าสูง (ระดับหนึ่ง) นำมาใส่รวมกันในถุงที่มิดชิดโดยจะบอกเพียงว่าภายในเป็นสินค้าชนิดใด และติดราคาเท่ากันทุกถุง ฉะนั้นคุณอาจจะได้ทั้งสินค้าที่มีราคารวมแพงกว่าเงินที่จ่ายจริงหรือเท่ากับเงินที่จ่ายจริงก็ได้ เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นเพื่อความสนุกสนานในช่วงปีใหม่ที่ผู้คนจะออกมาจับจ่ายใช้สอยสินค้ากันอย่างคึกคัก ส่วนใหญ่จะจัดช่วงวันที่ 1 – 3 มกราคม แต่บางร้านก็จัดตั้งแต่ช่วงสิ้นปี หรือคนที่ไม่อยากพลาดสินค้าแบรนด์ที่ตัวเองสนใจก็สามารถสั่ง Lucky Bag ออนไลน์แล้วสั่งให้ส่งไปที่บ้านก็ยังได้นะคะ

เขียนเมื่อ Dec 31, 2018
อัพเดทล่าสุด Dec 30, 2020

ค้นหาโรงแรมที่พักในญี่ปุ่น


รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com