สวัสดีค่า เกียวโต (Kyoto) เป็นอีกจุดมุ่งหมายที่หลายๆ ท่านคงอยากไปเยือนให้ได้สักครั้ง และในวันนี้เราก็จะพาไปชมสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในเมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่นแห่งนี้ที่วัดกินคะคุจิ (Ginkakuji Temple) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “วัดเงิน” นั่นเอง นอกจากนี้เราก็จะพาไปทานอาหารท้องถิ่นในแถบนี้ด้วยนะคะ

เกี่ยวกับวัดกินคะคุจิ (Ginkakuji Temple)

วัดกินคะคุจิ วัดเงิน (Ginkakuji Temple / 銀閣寺)

ประวัติความเป็นมา

วัดกินคะคุจิ (Ginkakuji Temple / 銀閣寺) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “วัดเงิน (Silver Pavilion)” มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดจิโชจิ (Jishoji Temple / 慈照寺)” สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1482 เป็นวัดพุทธโชโคคุ นิกายรินไซ (นิกายของญี่ปุ่น) ที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองเกียวโต (Kyoto) ด้านหลังติดเทือกเขามีและมีสายน้ำไหลผ่านซึ่งเป็นน้ำที่นำมาใช้ชงชาในพิธีชงชาของญี่ปุ่น นอกจากนี้ด้านในยังมีห้องชงชาที่คาดว่าเป็นต้นแบบของห้องชงชาในยุคหลังๆ อีกด้วย

ชือวัดคำว่า “銀 (Gin)” นั้นแปลว่าเงิน แม้จะเรียกวัดกินคะคุจิกันจนติดปากว่า “วัดเงิน” แต่ตัวศาลาก็ไม่ได้ทาผนังด้วยสีเงินอย่างที่ “วัดทอง” หรือวัดคินคะคุจิ (Kinkakuji Temple) ซึ่งมีการเคลือบด้วยทองคำตามชื่อและยังเป็นวัดต้นแบบของวัดเงินอีกด้วย ตัวศาลาของวัดกินคะคุจิแห่งนี้ยังคงสีเดิมของไม้สีน้ำตาลเก่าแก่เอาไว้ แสดงถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่นซึ่งเน้นความเรียบง่ายและธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

ที่วัดแห่งนี้เป็นเคยที่พักอาศัยของท่านโชกุนอาชิคางะ โยชิมาสะ (Ashikaga Yoshimasa) เมื่อประมาณ 500 – 600 ปีก่อน ซึงท่านโชกุนก็ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการศึกษาศิลปะและการชงชา เป็นที่มาของการมีห้องชงชาอยู่ด้านในนั่นเอง

ข้อมูลการเยี่ยมชม

  • เวลาทำการ:
    • มีนาคม – พฤศจิกายน เปิด 8:30 – 17:00 น.
    • ธันวาคม – กุมภาพันธ์ เปิด 9:00 – 16:30 น.
  • ค่าเข้าชม:
    • ผู้ใหญ่ 500 เยน
    • นักเรียนประถม – มัธยมต้น 300 เยน

วิธีการเดินทาง

รถบัส

ป้ายรถบัสใกล้เคียง ได้แก่

  • Ginkakuji-Mae (銀閣寺前) เดินประมาณ 5 นาที สายที่ผ่านได้แก่ Kyoto City Bus สาย 32, 100
    • จากสถานี Kyoto ให้นั่งรถบัสสาย 100 มาลงที่ป้าย Ginkakuji-Mae
  • Ginkakuji-Michi (銀閣寺) เดินประมาณ 10 นาที สายที่ผ่านได้แก่ Kyoto City Bus สาย 5, 17, 32, 100, 102, 203, 204
    • จากสถานี Kyoto ให้นั่งรถบัสสาย 5, 17 มาลงที่ป้าย Ginkakuji-Michi

รถไฟ

สถานีรถไฟใกล้เคียง คือ

  • Demachiyanagi (รถไฟสาย Keihan Main Line และ Eizan Main Line) เดินประมาณ 30 นาที
    • จากสถานี Kyoto ให้นั่งรถไฟสาย JR Nara Line มาที่สถานี Tofukuji แล้วเปลี่ยนเป็นรถไฟสาย Keihan Main Line มาลงที่สถานี Demachiyanagi

รีวิวเที่ยววัดกินคะคุจิ (Ginkakuji Temple)

เราเริ่มต้นการเที่ยววัดกินคะคุจิแห่งเกียวโตด้วยการซื้อบัตรรถบัส Kyoto City Bus & Kyoto Bus One-Day Pass ซึ่งเพื่อนๆ สามารถซื้อได้ที่เครื่องขายตั๋วหน้าป้ายรถบัสตรงสถานี Kyoto เลย แต่แนะนำว่าควรแลกเหรียญหรือแตกแบงค์จากร้านสะดวกซื้อไปก่อนจะดีมากค่ะ เพราะว่าจะได้ซื้อบัตรโดยหยอดเหรียญได้เลย เนื่องจากแถวซื้อบัตรยาวมาก ซึ่งบางครั้งเครื่องจะไม่รับแบงค์ใหญ่ๆ และที่แน่นอนเลยค่ะ เครื่องจะไม่รับแบงค์ 2,000 เยนนะคะ

แต่ในวันนี้เราซื้อบัตรรถบัสที่โรงแรมที่เราพักในเกียวโตค่ะ ข้อดีคือไม่ต้องรอนาน และซื้อได้ในราคาเท่ากัน ไม่มีการบวกค่าเซอร์วิสใดๆ ทั้งสิ้น ราคา 500 เยน เด็กราคา 50% ของราคาผู้ใหญ่ค่ะ แค่นั่งไปกลับที่เดียวก็คุ้มแล้วจ้าา

หมายเหตู: ปัจจุบัน (ปี 2018) Kyoto City Bus & Kyoto Bus One-Day Pass ได้ปรับขึ้นราคาเป็น ผู้ใหญ่ 600 เยน, เด็ก 300 เยน

เพิ่มเติมสำหรับการขึ้นรถบัสในจังหวัดเกียวโตนะคะ ต้องขึ้นประตูหลังและลงด้านหน้าค่ะ การตอกบัตรสำหรับคนที่ใช้พาส แค่โชว์ด้านที่มีวันที่ให้คนขับรถดูก็พอค่ะ แล้วเดินลงได้เลย (ถ้าใช้ครั้งแรกจะต้องสอดพาสที่เครื่องก่อนเพื่อตอกวันที่เริ่มใช้งานบนพาส) สำหรับคนที่ใช้บัตร IC Card ทั้ง ICOCA, SUICA, PASSMO ฯลฯ ให้แตะทั้งตอนขึ้นและตอนลงค่ะ เพื่อคำนวนระยะทางตอนขึ้นและลงค่ะ

ในส่วนของเงินสด ที่จ่ายเงินรถบัสจะไม่มีการทอนเงิน และไม่รับธนบัตร ใครที่มีแต่แบงค์ ตอนขึ้นก็เดินไปแลกแบงค์ตรงเครื่องแลกเหรียญข้างๆ คนขับก่อนไปนั่ง หรือว่าแลกตอนก่อนลงค่ะ แต่ในระหว่างทางรถวิ่ง ถ้าไม่มีคนยืนแล้วเราลุกขึ้นเดินอาจจะโดนเตือนได้ว่าไม่ควรลุกเดิน เพราะอันตรายค่ะ

หลังจากเราลงรถบัสที่ป้าย Ginkakuji-mae แล้วก็เดินไปอีกไม่ไกลค่ะ ตามถนนก่อนที่จะเข้าสู่เขตวัดกินคะคุจิ เราจะเห็นทางเดินที่มีต้นไม้แผ่กิ่งก้านสาขาอยู่ตลอดทาง และนี่คือต้นซากุระค่ะ (ตอนที่ไปเป็นช่วงหน้าหนาวแล้ว) ถ้าเพื่อนๆ มาชมในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ถนนสายนี้จะถูกปกคลุมไปด้วยสีชมพู คงสวยมากแน่ๆ เนอะ

เมื่อเข้าสู่ถนนหน้าตาแบบนี้นั้นหมายความว่า เราได้เริ่มเข้าสู่โซนของถนนหน้าวัดแล้วค่ะ ต่อจากตรงนี้เป็นต้นไปจะเจอร้านขายของฝากมากมาย รวมทั้งร้านอาหารด้วยนะคะ ซึ่งเราก็ขอแวะลิ้มลองอาหารท้องถิ่นแถวนั้นเสียหน่อย

เซ็ตอาหารเช้าที่สั่งมานั้นประกอบด้วย แฮมเบิร์กญี่ปุ่น สลัด คร๊อกเก้มันฝรั่ง แฮมเบิร์กญี่ปุ่น และอุด้งถ้วยเล็ก ซดอุ่นๆ ในวันที่อากาศหนาวๆ ค่ะ

อีกชามเป็นโซบะเย็นที่คนขายแอบมองหน้าเราๆ กันนิดหน่อยที่สั่งอาหารธาตุเย็นในช่วงหน้าหนาว เขาคงแปลกใจ แต่ว่าคนอยากทาน หนาวยังไงก็ทานได้ อิ อิ

อาหารข้างต้นเป็นร้านที่เราแวะร้าน Local แถวนั้นค่ะ ไม่ใช่ร้านแบบตกแต่งสวยงามอะไร แต่ว่าเป็นเจ้าของเดิมในพื้นที่ที่เปิดร้านอาหารแบบในครอบครัวกันเอง ส่วนราคาก็ปกติค่ะ ไม่ถูกไม่แพง แต่ว่าได้รสชาติฝีมือแม่ ไม่ใช่ฝีมือแฟรนไชส์ นี่ต่างหากเป็นสิ่งที่เราจะสัมผัสได้จากอาหารในท้องถิ่นค่า

ทานอาหารเสร็จแล้ว ก็ออกเดินเข้าซอยกันต่อ เราจะเริ่มเห็นร้านที่เป็นร้านอาหารแบบกิจลักษณะมากขึ้น และส่วนตัวที่เราคิดนะคะ ร้านอาหารที่เขามีกลุ่มเป้าหมายคือนักท่องเที่ยวเขาจะทำ Sample เป็นตัวอย่างให้เราดูกันค่ะ ก็ถือว่าดีสำหรับต่างชาติอย่างเรา อยากทานอะไรก็ชี้ๆ ได้เลย

เดินมาอีกหน่อยก็เจอร้านโมจิชาเขียวค่ะ เป็นโมจิสีใสนุ่มๆ แล้วโรยด้วยผงชาเขียว ตัวเนื้อโมจิจะมีรสของน้ำ “คุโรมิสุ” หรือซอสหวานน้ำดำ ตัดกับรสขมนิดๆ ของผงชาเขียว หอมอร่อย จึงกลายเป็นเมนูโปรดของเราได้ไม่ยากเลยค่ะ

ด้านในร้านก็เต็มไปด้วยชาเขียวและชาอื่นๆ หลากหลายชนิดค่ะ จริงๆ แล้วในบรรดาชาเขียวเองก็จะมีลำดับชั้นของชาอยู่ด้วยค่ะ ยิ่งชาดีก็ยิ่งแพง โดยขึ้นอยู่กับกรรมวิธีแปรรูป ช่วงเวลาการเก็บ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีทั้งแบบชงและแบบผงค่ะ ดื่มแบบร้อนและเย็นแล้วแต่เราจะเลือก เหมาะกับการซื้อเป็นของฝากที่บ่งบอกความเป็นญี่ปุ่นได้ดีเลย

เนื่องจากเมื่อสักครู่ได้รองท้องด้วยมื้อหนักกันแล้ว เราก็มาตบท้ายด้วยของหวานค่ะ อร่อยมากๆ เราทานข้างๆ ร้านแล้วฝากเขาทิ้งเลย ถังขยะหายากค่ะ

ร้านของทานเล่นแบบเสียบไม้ก็มีหลายรูปแบบ สามารถซื้อแล้วนั่งทานในร้านได้สะดวกค่ะ

ร้านชูครีมกระต่าย Yatsuhashi Cream Puff จากหน้าวัดน้ำใส (Kiyomizu Temple) ที่เรารีวิวไปตอนก่อนก็ตามมายั่วเราถึงที่นี่ อิ อิ สาขานี้ไม่ใหญ่มาก ไม่มีที่ให้นั่งทาน แต่ว่ามีของอร่อยๆ ทั้งนั้นเลย ฮื้อออ

เมื่อพ้นบริเวณขายของ เราก็เจอทางเข้าวัดกินคะคุจิอยู่ลิบๆ ด้านหน้าค่ะ เดินเข้าไปกันเลย

หน้าตาทางเข้าเหมือนทางเข้าบ้านญี่ปุ่นปกติทั่วไปมาก ในสมัยก่อนก็เป็นที่พักของคนจริงๆ วัดเงินแห่งนี้เน้นความเรียบง่าย จะแตกต่างในความอลังการแบบวัดทองเลยค่ะ

ด้านหลังเมื่อเราผ่านประตูทางเข้าค่ะ นี่คือทางเดินเข้าบ้านเหรอคะ! ให้ความรู้สึกถึงความเป็นส่วนตัวและความสูงศักดิ์จริงๆ (อารมณ์บ้านไฮโซมีที่เยอะๆ) และเมื่อสิ้นสุดทางเดินนี้จะเป็นโซนที่ต้องซื้อตั๋วเขาชมวัดกินคะคุจิค่ะ

บัตรผ่านประตูราคา 500 เยน

หน้าตั๋วให้ความรู้สึกเหมือนยันต์สมัยก่อนค่ะ แต่ก็ดูเป็นเแบบเกียวโตดีค่ะ อักษรที่เขียนเราพยายามอ่านแล้วก็อ่านไม่ค่อยจะออก แต่บอกเลยว่าในปัจจุบันคนที่เขียนตัวอักษรลักษณะนี้ได้แทบไม่มีแล้ว คนญี่ปุ่นสมัยก่อนเขาเขียนตัวหนังสือสวยกันมากๆ อารมณ์เดียวกับรุ่นพ่อๆ แม่ๆ เราเขียนหนังสือสวยแหละค่ะ หวัดๆ แต่สวยมาก

ด้านในของวัดก่อนที่เราจะเจอตัวอาคาร เราก็หันมาสนใจสวนญี่ปุ่นด้านหน้าค่ะ เริ่มจากการจัดทรายรูปแบบต่างๆ แบบเล็กๆ ค่ะ จะบอกว่าไม่เคยเห็นสวนทรายก็ว่าได้ เพราะส่วนใหญ่สวนญี่ปุ่นจะเป็นสวนหิน ไม่ใช่สวนทราย อีกทั้งยังเป็นทรายออกสีขาวหม่นๆ มองไกลๆ สะท้อนแสงหน่อย จะออกแนวสีเงินก็ว่าได้

และสวนก็เริ่มกว้างมากขึ้นไปจนถึงด้านหน้าอาคารเก่าแก่ แน่นอนว่าเข้าชมไม่ได้ ส่วนตัวเรารู้สึกถึงความโบราณของวัดมากๆ ทั้งบรรยากาศ การจัดโทนสี ที่เน้นสีของธรรมชาติ คือสีของไม้ ใบไม้และสวนทราย ล้วนเป็นสีโทนเย็น มองแล้วสงบใจได้ดี

ด้านหน้าอาคารที่มีสวนญี่ปุ่นกว้างขวางนี้ สิ่งที่โดดเด่นอย่างมากของที่นี่คือ ภูเขาทรายสูงท่วมหัวคน ลวดลายและความละเอียดของทรายในแบบสวนของญี่ปุ่น ราวกับปฏิมากรรมที่เราไม่กล้าแตะต้องเลยล่ะคะ

อีกมุมหนึ่งของสวนทราย อยากรู้ว่าตอนทำนี่เขาทำกันยังไงเน๊อะ สวยและเรียบร้อยทุกกระเบียดนิ้วขนาดนี้

อย่างที่เคยบอกไปแล้วว่าด้านหลังนั้นติดกับทิวเขาทิศตะวันออกของเกียวโต เราจึงเดินขึ้นเขาเพื่อไปชมวิวของเมืองกันค่ะ ด้านบนจะได้ยินเสียงน้ำไหลด้วย บ่งบอกถึงความเป็นธรรมชาติสุดๆ

นี่คือทิวทัศน์ที่มองจากด้านบนค่ะ เหมือนด้านล่างเป็นเมืองขนาดย่อม สวน ต้นไม้ และอาคารต่างๆ มันดูลงตัวสวยไปหมด วิวไกลๆ ก็สวยมาก ความประทับใจของวัดเงินนั้นอยู่ที่การชื่นชมธรรมชาติและวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นค่ะ คือ เรียบง่าย สงบ แต่มีมนต์ขลัง

สำหรับชมวัดเงินตอนช่วงใบไม้เปลี่ยนสี สามารถเข้าไปดูรีวิวได้ที่บทความนี้เลยจ้า » [รีวิว] เที่ยววัดกินคะคุจิ (Ginkakuji Temple) วัดเงินแห่งเมืองเกียวโต ชมใบไม้เปลี่ยนสีชิลๆ

เขียนเมื่อ Apr 4, 2017
อัพเดทล่าสุด Oct 30, 2018

เทียบราคาโรงแรมที่พักในเกียวโต


บทความเที่ยวเกียวโต (Kyoto)

การเดินทาง
สถานที่ท่องเที่ยว
› เกียวโตกลาง (Central Kyoto)
› เกียวโตตะวันออก (Eastern Kyoto)
› เกียวโตตะวันตก (Western Kyoto)
› เกียวโตเหนือ (Northern Kyoto)
› เกียวโตใต้ (Southern Kyoto)
ร้านอาหาร

+ ดูบทความเที่ยวเกียวโตทั้งหมด

รูปภาพที่มีโลโก้และบทความในเว็บไซต์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของ JapanKakkoii.com